นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 59/60 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการแรกเป็นการเยียวยาครอบครัวละ 3 พันบาทสำหรับเกษตรกรทึ่อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.59 จนถึงวันที่ 28 ก.พ.60 และได้รับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ โดยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มพืช ประมง และปศุสัตว์ ทั้งนี้ได้สำรวจพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 5,427 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 120 ครัวเรือน คิดเป็นเงินงบประมาณในการช่วยเหลือทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท และหากหลังจากวันที่ 6 ต.ค.59 ไปจนถึงเดือน ก.พ.60 หากมีกรณีภัยพิบัติเช่นนี้ก็สามารถขออนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมได้
มาตรการที่สอง เป็นการพักชำระหนี้สินและขยายเวลากรชำระหนี้เพิ่มเติม แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับผู้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีการดำเนินการให้ขยายเวลชำระหนี้ไปอีก 6 เดือน โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้คิดเป็นงบประมาณ 300 กว่าล้านบาท ส่วนที่ 2 เป็นกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่สหกรณ์นำไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิกเป็นการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปี สามารถกู้ได้รายละ 5 พันบาท วงเงินประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนกลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.จะให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่รัฐบาลเคยให้การช่วยเหลือในโครงการมันสำปะหลัง โครงการข้าว เกษตรกรรายย่อยผู้ประสบภัยแล้ง โดยจะขยายเวลาชำระหนี้ให้ไม่เกิน 12 เดือน หรือกำหนดเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับภาวะการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย หรือให้สินเชื่อใหม่แก่เกษตรกรเพื่อฟื้นฟูอาชีพของตนเองในอัตรา 5 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย MRR
และมาตรการที่สาม เป็นการฟื้นฟูอาชีพ สนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อการปรับตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักเกณฑ์มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 59/60 โดยช่วยเหลือทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ อัตราครัวเรือนละ 3,000 บาท ส่วนพื้นที่ที่เสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำซึ่งถือว่าต้องเสียสละ พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลจะให้การดูแลอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่ารัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำและดูแลในภาพรวม เพื่อไม่ให้ทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
ขณะที่การขอความร่วมมือปรับช่วงเวลาเพาะปลูก เนื่องจากต้องพิจารณาจัดพื้นที่และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแต่ละจุด และเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อการเก็บเกี่ยว เพราะหากมีการเพาะปลูกพร้อมกันทุกพื้นที่ จะมีเครื่องมือเก็บเกี่ยวไม่พอ แต่หากมีการเพาะปลูกเหลื่อมเวลากัน ก็จะสามารถนำเครื่องมือไปเก็บเกี่ยวได้ทัน
ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลให้การดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยพิจารณาจากข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเหมาะสม