ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน-เป็นธรรมทุกฝ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 11, 2016 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการแข่งขัน เพื่อให้เกิดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และยังเป็นการปรับโครงสร้างต้นทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้ชาวไร่อ้อยได้รับรายได้ที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ได้มีการจัดทำแผนโซนนิ่ง ให้ส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอีก

การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสอดรับกับข้อกำหนดของ WTO ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลกและช่วยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและบราซิล ที่บราซิลเห็นว่าเราทำไม่ถูกต้องตามกฎของ WTO ซึ่งไทยกำลังหารือกับบราซิลพร้อมๆ ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย

สำหรับแผนปรับโครงสร้างฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ 1.ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าของอ้อยและน้ำตาลทราย 2.ยกเลิกโควต้าน้ำตาลในประเทศ ปรับปรุงโควต้าการส่งออกน้ำตาลของภาครัฐและภาคเอกชน 3.ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ หลังราคาน้ำตาลในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก 4.กำหนดการนำเข้าน้ำตาลทราย ซึ่งก็มีข้อขัดแย้งใน AFTA เช่นเดียวกัน และ 5.ยกเลิกการให้เงินช่วนเหลือค่าอ้อยราคา 160 บาทต่อตันอ้อย และยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยกรณีราคาอ้อยต้นทุนสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายหรือราคาที่ขายได้แต่จะหากลไกใหม่มาดูแลจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้แก่ชาวไร่อ้อยต่อไป

นอกจากนี้จะดำเนินการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะรวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ เรื่องของการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันการเก็บอ้อย 60-70% จะใช้วิธีเผาก่อนเก็บทำให้มีปัญหาอ้อยต้องเข้าหีบทันที และจะเพิ่มผลิตภาพโดยการนำของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นผลผลิตอื่น เช่น ไฟฟ้าจากกากอ้อย การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แผนแม่บท จัดทำศูนย์กลางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือ Bio Hub รวมทั้งกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทราย มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้สามารถคำนวณต้นทุน คำนวณส่วนแบ่งระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อยได้ดีขึ้น

ซึ่งประเด็นเรื่องของการให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเข้าไปพยุงราคาอ้อยนี้เป็นสิ่งที่ WTO ตั้งข้อสงสัยว่าผิดกฎ WTO ซึ่งการแก้กฎหมายจะทำให้อนาคตไม่มีเงินจากรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแล้ว และในอนาคตจะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน 5 ภาค คือ 1.พันธุ์อ้อย 2.การบริหารจัดการอ้อยรวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร 3.เรื่องโรคและแมลงศัตรูอ้อย 4.การพัฒนาดิน น้ำ ปุ๋ย และ 5.ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมน้ำตาลมูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์อ้อย

"เรื่องนี้จะมีนัยยะต่อเกษตรกรประมาณ 3 แสนครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลเกือบ 2 แสนล้านบาท" นายกอบศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ