ภาคอสังหาฯ ขานรับกม.ภาษีที่ดินฯ ชี้ช่วยให้โครงสร้างสาธารณูปโภคท้องถิ่นเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2016 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง และประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หอการค้าไทย กล่าวภายในงานสัมมนา "ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...."ว่า ภาคเอกชนถือว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเป็นระยะเวลานาน ในหลักการโดยรวมมีความเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นการปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่ของสาธารณูปโภคในท้องถิ่น และสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน จึงทำให้โครงสร้างดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง

ส่วนผลกระทบที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ มองว่าจะส่งผลให้เกิดซัพพลายของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่ตลาดมากขึ้น, ราคาที่ดินบางพื้นที่ปรับตัวลดลง, ราคาหลักประกันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลง, จะมีซัพพลายของบ้านมือสองเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารชุด และบ้านพักตากอากาศ ขณะที่ธุรกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม, อพาร์ตเมนท์, อาคารสำนักงาน, โกดัง อาจจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับภาษีโรงเรือนและที่ดิน

นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรพิจารณาของกฎหมายดังกล่าว คือในเรื่องของคำจำกัดความของที่ดินเกษตรกรรม, ความซ้ำซ้อน หรือภาระซ้ำซ้อนของภาษี และค่าธรรมเนียม ที่มีผลต่อผู้บริโภคและเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนมือถือครอง ซึ่งควรพิจารณาปรับปรุงภาษี และค่าธรรมเนียม ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน โดยข้อเสนอแนะ ให้กำหนดจำนวนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท 2.ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง ปัจจุบัน 1% ของราคาประเมิน ข้อเสนอแนะให้กำหนดจำนวนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 แสนบาท 3.ภาษีธุรกิจเฉพาะ ปัจจุบัน 3% ของราคาประเมิน ข้อเสนอแนะ เปลี่ยนเป็น Capital Gain Tax และความสะดวกสบายในการจัดเก็บภาษี ควรเพิ่มช่องทาง Online จ่ายผ่านการหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิตได้

อีกทั้งควรยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่เป็นสาธารณูปโภคและทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้อยู่อาศัยและเกิดความซ้ำซ้อนของภาษี, ข้อยกเว้น กรณีที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อขาย เพื่อไม่ให้เกิดการผลักดันภาระภาษีเข้าไปในต้นทุน ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อในราคาแพงขึ้น โดยเสนอแนะให้มีการยกเว้นเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่มีใบอนุญาตจัดสรรหรือใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (กรณีอาคารชุด) ไม่ใช่นับจากวันที่ถือครองกรรมสิทธิ์ เพื่อป้องกันการแอบอ้างเพื่อหลบเลี่ยง

สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า ควรยกเว้นหรือผ่อนปรน กรณีที่ดินตาบอด ถูกลดหรือทอนสิทธิการใช้ประโยชน์จากกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ รวมถึงผังเมือง และควรกำหนดในแต่ละโซน ควรมีเปอร์เซนต์ที่ยอมรับ พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อใช้เป็นการรักษาระบบนิเวศน์ และการมีพื้นที่ซับน้ำ ขณะเดียวกันค่าลดหย่อนภาษีบางกรณีมากเกินไป ไม่เหมาะสมและเพียงพอต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับการยกเว้น 50 ล้านบาทแรก โดยเสนอแนะ ให้มีการลดหรือลดหย่อน 5 ล้านบาทแรก และส่วนที่เกินชำระตามอัตรา แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

ส่วนการบริหารจัดการทรัพย์สินภายหลังที่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรใช้ตามความจำเป็น, ประเมิน และสำรวจความคุ้มค่ากับประโยชน์ใช้งาน, ตัดสินใจตามทางเลือกระหว่างใช้ต่อไป กับการขายต่อ หรือให้เช่าทั้งหมด หรือบางส่วน

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) กล่าวว่า มีความเห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ยังมีความเป็นห่วงต่อกฎหมายฉบับนี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ปานกลาง

พร้อมกันนี้ การพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวควรระวังในเรื่องของภาระภาษีที่มีต่อประชาชนต่อการได้มาขายไปของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องมีความเป็นธรรม ชัดเจน และสะดวก โดยภาระภาษีที่ซ้ำซ้อนเป็นภาระกับผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ควรปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าอากรแสตมป์ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 7-8% จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ผลกระทบต่อผู้ถือครองคอนโดมิเนียม สำหรับอยู่อาศัย ปล่อยเช่า ควรหาวิธีป้องกันการใช้ดุลยพินิจการประเมินของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ด้านผู้ประกอบการ ควรยกเว้นภาษีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา, บ้านจัดสรร, บ้านเดี่ยว, ทาวน์โฮม ตาม พ.ร.บ.จัดสรรฯ ยกเว้น 5 ปี, คอนโดมีเนียม ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด 7 ปี และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 10 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ