นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะเสนอแผนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าภาคตะวันออก มูลค่า 7.25 พันล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปี 60 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ของกลุ่มกัลฟ์ จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ที่จะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 64 โดยยังรอความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างไรต่อไป
"ภาคตะวันออก ยังมีประเด็นของ IPP รอบ 3 อีก 5,000 เมกะวัตต์ ยังไม่จบ ต้องดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ถ้าได้ตาม 5,000 เมกะวัตต์นี้ กฟผ.จะต้องลงทุน 7.25 พันล้านบาทเพื่อสร้างสายส่งให้สามารถดำเนินการได้ทัน เราก็ต้องเสนอในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ทัน เพราะโรงไฟฟ้ายูนิตแรก 2,500 เมกะวัตต์ในปี 64 สายส่งเราก็ต้องสร้างเสร็จก่อนเขาประมาณ 9 เดือน ระบบส่งของเราต้องเสร็จกลางปี 63"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า กฟผ.ต้องดำเนินการก่อสร้างสายส่งระยะแรก ระยะทาง 6-8 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 680 ล้านบาท เพื่อรองรับโรงไฟฟ้ากลุ่มกัลฟ์ ระยะแรก 2,500 เมกะวัตต์ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64 ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่เหลือจะใช้ในการก่อสร้างสายส่งระยะที่ 2 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าอีก 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีการเสริมระบบสายส่งเพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้วงเงินลงทุนค่อนข้างสูง
อนึ่ง เมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ระบุถึงความคืบหน้าผลการตรวจสอบสัญญาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ของกลุ่มกัลฟ์จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ที่มีการร้องเรียนเรื่องการประมูลไม่ได้พิจารณาเรื่องต้นทุนต่ำสุดที่แท้จริงนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อขอความชัดเจนว่าจะให้ดำเนินการกับบริษัทดังกล่าวอย่างไรภายในเดือนต.ค.นี้
นายกิจจา กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นจะมีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP2015) หรือไม่ หลังมีโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งมีแนวโน้มจะไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามแผนนั้น เห็นว่าหากพิจารณาในแง่ของความมั่นคงด้านไฟฟ้านั้นอาจจะไม่กระทบมากนัก เพราะปัจจุบันยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึงราว 30% เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังไม่ได้เติบโตมากนักตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
แต่หากพิจารณาในด้านของการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าอาจจะไม่เป็นไปตามแผน หลังแนวโน้มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะต้องชะลอออกไป โดยเฉพาะโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนแล้ว 2 ปี แต่หากโรงไฟฟ้าของกลุ่มกัลฟ์ ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ไม่ได้เข้าระบบนั้น อาจจะต้องพิจารณาว่าจะนำโครงการใดมาเสริมเป็นการทดแทน
อนึ่ง แผน PDP2015 เบื้องต้นจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศหลายแห่งที่เสนอขายไฟฟ้าให้ไทย โดยได้นำเสนอแผนมาให้กฟผ.พิจารณา อย่างโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ในเกาะกงของกัมพูชา ปัจจุบันมีผู้เสนอมา 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) มีกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ,กลุ่มเกาะกง ยูทิลิตี้ โดยมีบมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) เป็นแกนนำ มีกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ และกลุ่มบริษัท พงษ์ทรัพย์ทวี ผู้ประกอบการจากลาว กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 กลุ่มอยู่ระหว่างการหารือกับกฟผ. โดยยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จได้เพราะต้องขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เหมาะสม