นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ครั้งที่ 1 (Japan - Thailand High - Level Cooperation Dialogue on Agricultural and Food Industries) ว่า การประชุมหารือความร่วมมือระดับสูงในครั้งนี้ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent: MOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่ง รมว.ต่างประเทศ ของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.59 ตามที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศได้เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดจัดทำเอกสารความร่วมมือดังกล่าว โดยกรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)
โดยการประชุมหารือความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.การประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในช่วงเช้า มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น เป็นประธานร่วม โดยจะหารือในประเด็นด้านนโยบาย ประเด็นริเริ่มใหม่ รวมถึงประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเร่งรัดการดำเนินงานภายใต้กรอบ ดังนี้ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ ความร่วมมือด้านการชลประทาน การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและอาหาร และการสนับสนุนเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ของไทย จะเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ร่วมกันจัดทำ MOU การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายระหว่างไทย – ญี่ปุ่น (MOU-IUU) อีกด้วย
2. การประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงบ่าย โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท มาเยคาว่า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานร่วมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะเป็นการนำเสนอด้านนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เช่น สถานการณ์ด้านการเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงแผนพัฒนาการเกษตรฯ ฉบับที่ 12 นโยบาย World Food Valley นโยบาย Thailand 4.0 และการลงทุนใน Food Cluster ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และการพัฒนาทางการเกษตรแบบสมัยใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุมหารือความร่วมมือฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) และเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถผลักดันประเด็นด้านนโยบาย ประเด็นริเริ่มใหม่ และประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น จะได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในด้านนโยบายร่วมกัน รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎระเบียบด้านการเกษตรและอาหารที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้บังคับ ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมรองรับได้ทันสถานการณ์ ตลอดทั้งขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหาร และเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน
"กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาภาคการเกษตรจากการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย รวมทั้งมีนโยบายลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ และการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยน และร่วมกันผลักดันประเด็นความร่วมมือ ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นประโยชน์ของเกษตรกร และภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว