ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าชื่อเสียงของอาหารไทยเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ประกอบกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีบทบาทเผยแพร่วัฒนธรรมและอาหารไทยสู่ชาวต่างชาติ นำมาซึ่งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยไปสู่ร้านอาหารไทย และครัวเรือนในต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในซัพพลายเชนอาหารไทยในต่างประเทศ น่าจะขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี หรือขยายตัวจากมูลค่า 91,000 ล้านบาทในปี 2558 ไปสู่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 133,000 ล้านบาทในปี 2561
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ อย่างเครื่องปรุงรส ซอส กะทิ สมุนไพร และเครื่องเทศ รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมปรุง อย่างเครื่องแกงกึ่งสำเร็จรูป ในปี 2558 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2556-2558 ร้อยละ 6 ต่อปี โดยตลาดหลักในการส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมาก หรืออาหารท้องถิ่นในประเทศนั้นๆมีความใกล้เคียงอาหารไทย ซึ่งสามารถใช้สินค้าทั้งกลุ่มวัตถุดิบ และอาหารพร้อมปรุงที่ส่งออกจากประเทศไทยได้
ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงอาหารไทยยังก่อให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย เช่น พ่อครัว แฟรนไชส์ร้านอาหาร โรงเรียนสอนทำอาหาร บริการออกแบบและตกแต่งอาหาร (Food Stylist) เป็นต้น
จากแนวโน้มที่ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยมีการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีนวัตกรรม รวมถึงการเจาะประเทศเป้าหมายการส่งออกใหม่ๆ อย่างไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย โปแลนด์ และนอร์เวย์ ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยมีอัตราการขยายตัวโดดเด่น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
เชนร้านอาหารขยายสาขาในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนเอง การร่วมทุนกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ และการขายแฟรนไชส์ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ใช้ความเชี่ยวชาญต่อยอดขยายการลงทุนธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น และนำมาซึ่งความต้องการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยตามมา
"มูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในซัพพลายเชนอาหารไทยในต่างประเทศ ทั้งรายได้ธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รวมถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย น่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี หรือขยายตัวจากมูลค่า 91,000 ล้านบาทในปี 2558 ไปสู่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาทในปี 2561" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เชนร้านอาหารมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผู้ให้บริการด้านอาหารอย่างครบวงจรในต่างประเทศ โดยนอกจากการให้บริการร้านอาหารไทยแล้ว เชนร้านอาหารยังสามารถใช้ข้อได้เปรียบที่มีแบรนด์ร้านอาหารเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ ต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านอาหารไทยสำหรับลูกค้าเพิ่มเติม เช่น การพัฒนาจากร้านอาหารไทยไปสู่ Thai Lifestyle Shop ที่มีการขายสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยภายในร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว และครัวเรือนในต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้จากบริการด้านอื่นๆ เพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ผู้ให้บริการอาหารไทยให้แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การขยายร้านอาหารไทยในต่างประเทศของเชนร้านอาหาร ก็ยังเผชิญความท้าทายจากจำนวนคู่แข่งในตลาดร้านอาหารไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งชาวต่างชาติในท้องถิ่นที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทย รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ที่รุกขยายธุรกิจร้านอาหารไปยังประเทศต่างๆ โดยประยุกต์หรือผสมผสานอาหารไทยให้มีความแปลกใหม่และหลากหลาย นับเป็นความท้าทายของเชนร้านอาหารไทยที่ต้องปรับกลยุทธ์รับมือการแข่งขันในตลาดร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น
ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยอาจเจาะตลาดครัวเรือนในต่างประเทศ ด้วยการขยายช่องทางการขายสินค้าเพิ่มเติมจากร้านค้าปลีก ไปสู่การขายสินค้าในร้านอาหารไทย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจอาหารไทยโดยตรง รวมถึงยังมีการแข่งขันระหว่างสินค้าบนชั้นวางต่ำกว่าในร้านค้าปลีก นอกจากนี้ อาจขยายการขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้าควบคู่กันไป รวมถึงใช้สื่อออนไลน์นำเสนอร้านอาหารไทย และวิธีปรุงอาหารไทย เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยจากครัวเรือนในต่างประเทศอีกทางหนึ่ง