กฟผ.ศึกษาตั้ง Coal Center รองรับโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ราว 5,800 MW ตามแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday October 15, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาตั้งศูนย์นำเข้าและกระจายถ่านหิน (Coal Center) เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 58-79 (PDP2015) ที่จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 6 แห่ง กำลังผลิตรวม 5,800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้ถ่านหินนำเข้าราว 20 ล้านตัน/ปี โดยระยะแรกต้องนำเข้าถ่านหินราว 10 ล้านตัน/ปีสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 64-67

"เรามองไว้ว่าเราจะต้องจัดหาถ่านหิน 10 ล้านตันสำหรับการผลิตไฟฟ้า 2,800 เมกะวัตต์ Coal Center จะเป็นคลังกักเก็บถ่านหินขนาดใหญ่ เราจะซื้อถ่านหินมาผสมกัน เพราะแหล่งถ่านหินแต่ละแหล่งก็จะมีคุณภาพถ่านหินที่ไม่เหมือนกัน ก็จะนำมาผสมเป็นที่ต้องการแล้วก็จัดส่งออกไปตามโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งก็จะเป็นการเสริมความมั่นคงด้านพลังงานด้วย"นายถาวร กล่าว

นายถาวร กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 ไทยจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสิ้น 6 แห่ง โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นก่อนเป็นโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปลายปี 62 แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งน่าจะมีความล่าช้าแล้ว 2 ปีเป็นไปในปลายปี 64 ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบต่อไปคือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในจ.สงขลา ซึ่งจะมี 2 ระยะ โดยระยะแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ากลางปี 64 และระยะที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปี 67 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่

สำหรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 6 แห่ง จะทำให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีความสมดุลมากขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ในแผน PDP2015 ที่จะลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเหลือราว 37% จากปัจจุบัน 70% และสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 23% จากปัจจุบัน 18-19% ส่วนที่เหลือเป็นการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน, การซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และต่างประเทศ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ เป็นต้น

"เราไม่คิดว่ากระบี่ และเทพาจะไม่เกิด เราต้องเดินหน้าสู้ต่อไป กฟผ.ไม่ได้อะไรแต่จะเป็นการลดสัดส่วนจากก๊าซฯ มาใช้ถ่านหิน"นายถาวร กล่าว

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ของกฟผ. กล่าวว่า หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การผลิตไฟฟ้าก็อาจจะยังต้องพึ่งพาก๊าซฯ เป็นหลักอยู่ต่อไป ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย และการซื้อก๊าซฯ จากเมียนมาก็จะลดน้อยลงในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทนมากขึ้น จากเดิมที่ตามแผน PDP2015 จะต้องนำเข้า LNG กว่า 23 ล้านตัน/ปีในช่วงสิ้นสุดแผนปี 79 ก็อาจจะต้องนำเข้า LNG สูงสุดราว 33 ล้านตัน/ปี ขณะที่ LNG นับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงก็จะส่งผลกระทบให้ค่าไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจนถึงสิ้นสุดแผน PDP2015 จะอยู่ที่กว่า 4 บาท/หน่วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ