โพล เผยเอกชนส่วนใหญ่คาดส่งออกปีนี้ทรงตัว-มองบาทช่วง 35 บาท/ดอลล์ ช่วยเอื้อส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2016 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศในเรื่อง "ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2559" พบว่า ผู้ประกอบการ 17.50% ระบุว่า การส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัว ขณะที่ 53.75% ระบุว่า จะทรงตัว และ 28.75% ระบุว่า หดตัว

ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัวนั้น 7.14% ระบุว่า จะขยายตัว 1 – 2% และจะขยายตัว 3 – 4% ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 21.43% ระบุว่า จะขยายตัว 5 – 6% และ 14.29% ระบุว่า จะขยายตัว 7 – 8%, 28.57% ระบุว่า จะขยายตัว 9 – 10% และ 21.43% ระบุว่า จะขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป

ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะหดตัวนั้น 4.35% ระบุว่า จะหดตัว 1 – 2%, 8.70% ระบุว่า จะหดตัว 3 – 4%, 17.39% ระบุว่า จะหดตัว 5 – 6%, 21.74% ระบุว่า จะหดตัว 9 – 10%, 39.13% ระบุว่า จะหดตัว มากกว่า 10% ขึ้นไป และ 8.70% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2559 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.75% ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รองลงมา 31.25% ระบุว่า นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น, 25.00% ระบุว่า การผลักดันการส่งออกผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน, 11.25% ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นบ้าง, 10.00% ระบุอื่นๆ ได้แก่ อัตราภาษีการส่งออก, การเมืองภายในประเทศ, การขยายตลาดของกลุ่มเป้าหมาย, อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ,มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดการส่งออก และการปรับตัวของผู้ประกอบการ และ 5.00% ระบุว่า ไม่มีปัจจัยสนับสนุนใดๆ

สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 58.75% ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่ง รองลงมา 45.00% ระบุว่า เป็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (การแข็งค่าของเงินบาท), 23.75% ระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ส่งออก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า ที่กำหนดว่าสินค้าส่งออกจากประเทศไทยต้องมีหนังสือยืนยันการป้องกันหรือกำจัดยุงที่อาจติดไปกับตู้สินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้าและโรคเมอร์ส, 17.50% ระบุว่า ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวไม่ชัดเจน, 15.00% ระบุว่า เป็นการชะลอการนำเข้าของจีน, 6.25% ระบุว่า เป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น และ ระบุว่า ผลประชามติของสหราชอาณาจักรที่ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 5.00% ระบุว่า ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2559, 16.25% ระบุอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนค่าแรง และค่าวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น, การเมืองภายในประเทศ และนโยบายการสนับสนุนการส่งออกจากภาครัฐ, กฎหมายการกีดกันทางการค้า, และการแข่งขันของคู่ค้า และร้อยละ 2.50 ระบุว่า ไม่มีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับการส่งออก

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 31.25% ระบุว่า เป็นประเทศจีน รองลงมา 30.00% ระบุว่า เป็นการค้าชายแดน (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาร์, มาเลเซีย), 27.50% ระบุว่า เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา, 18.75% ระบุว่า เป็นประเทศญี่ปุ่น และ ระบุว่า เป็นการค้าผ่านแดน (สิงคโปร์, จีนตอนใต้, และเวียดนาม) ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 16.25% ระบุว่า เป็นเอเชียใต้, 15.00% ระบุว่า เป็นสหภาพยุโรป, 8.75% ระบุว่า เป็นทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 3.75% ระบุว่า เป็น BRICS (รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้), 1.25% ระบุว่า เป็นแอฟริกาใต้ และ 2.50% ระบุว่า ไม่มีประเทศใดเลย

ส่วนแนวทางการรับมือจากการที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 73.75% ระบุว่า มีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ 26.25% ระบุว่า ไม่มีแนวทางในการรับมือ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ 49.15% ระบุว่า เป็นการวางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า รองลงมา 38.98% ระบุว่า เป็นการทำ Forward อัตราแลกเปลี่ยน, 23.73% ระบุว่า เป็นการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า, 18.64% ระบุว่า เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน, 15.25% ระบุว่า เป็นการย้ายแหล่งการนำเข้าวัตถุดิบ, 10.17% ระบุว่า เป็นการศึกษาตลาด และติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง, 8.47% ระบุว่า เป็นการเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย, 5.08% ระบุว่า เป็นการให้ความสำคัญกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย, 3.39% ระบุว่า เป็นการรักษาขนาดของการประกอบอุตสาหกรรม, 8.47% ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ลดต้นทุนการผลิต ทั้งในเรื่องของค่าแรงและวัตถุดิบ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน, และเจรจาการซื้อขายในราคาที่เหมาะสม

สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อค่าเงินบาทที่เอื้ออำนวยต่อภาคการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการ 2.50% ระบุว่า ควรน้อยกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ, 12.50% ระบุว่า ระหว่าง 32 – 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ, 10.00% ระบุว่า ระหว่าง 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์ฯ, 37.50% ระบุว่า ระหว่าง 34 – 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ และ 37.50% ระบุว่า ควรมากกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกในธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 62.50% ระบุว่า เป็นต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา 47.50% ระบุว่าเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น, 32.50% ระบุว่าเป็นสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีคุณภาพและการออกแบบที่ดีกว่า, 30.00% ระบุว่าเป็นการขยายตลาดใหม่ๆ ยังทำได้ไม่มาก, 6.25% ระบุอื่นๆ ได้แก่ อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ, ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, สินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า, การบริหารจัดการและการเพิ่มผลผลิต และ 1.25% ระบุว่าไม่มีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันการส่งออก

สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการอย่างไรเพื่อเป็นการผลักดันภาคการส่งออกไทย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.85% ระบุว่า ควรเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี

รองลงมา 28.21% ระบุว่า ควรสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ในการให้ความรู้และคำแนะนำในการขยายตลาดต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ SMEs, 26.92% ระบุว่า ควรส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างช่องทางในการเจรจาการค้าและขยายธุรกิจ, 23.08% ระบุว่า ควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าการลงทุน เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม, 17.95% ระบุว่า ควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคให้มากขึ้น, 12.82% ระบุว่า ควรเร่งกระตุ้นและพัฒนาการค้าชายแดน และ 19.23% ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ การตรึงราคาสินค้า, แก้ไขสภาพคล่องทางการเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศ, พัฒนาฝีมือแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้, รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท, เจรจาการกีดกัน ทางการค้าเพื่อการส่งออก, และจัดตั้งสำนักงานการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคม อำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุนได้อย่างมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน

2. ควรรักษาเสถียรภาพอัตราการแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท

3. ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้า การลงทุน การส่งออก ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง และให้เป็นไปอย่างทั่วถึง

4. ควรทบทวนหรือลดขั้นตอนในการส่งออกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ เนื่องจากขั้นตอนบางอย่างมีความซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีทะเบียนหรือประวัติอยู่แล้ว

5. เปิดเวทีการเจรจาการค้า การลงทุน ระหว่าผู้ประกอบการและคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการสินค้าจากไทย

ทั้งนี้ นิด้าโพล ได้สำรวจความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริหารระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 80 ราย เกี่ยวกับทิศทางการส่งออกของไทยปี 2559 โดยทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 12 ตุลาคม 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ