นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี ธนาคารกรุงเทพ AEC Business Forum : "AEC 2025" ในหัวข้อ ประเทศไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการพลิกโฉมเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือ AEC ว่า ในเวลานี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้นเชื่อว่ารัฐบาลมีการดำเนินไปแบบสุดทางแล้ว ผ่านนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นห่วงว่าหากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทำโดยไม่มีจุดจบ จะไม่ได้เป็นการพลิกโฉม หรือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
ทั้งนี้ จากการกำหนดกรอบนโยบายของรัฐบาล ถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขว่าประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะวิสัยทัศน์ของอาเซียน หรือสหประชาชาติ (UN) ขณะเดียวกันการเติบโตของประเทศไทยจะพึ่งพาการเติบโตภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีการเติบโตไปกับภูมิภาคและโลก เพื่อให้เกิดความสมดุล อย่างไรก็ตามใน Vision ที่จะนำพาไทยก้าวไปได้ในอนาคต และการกลับมากระตุ้นภายในประเทศ หรือการหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) รวมถึงการที่จะยกระดับประเทศให้มีการเติบโตขึ้น จะมาจากการปรับเพิ่มเงินเดือนในทุกระดับ, การขยายผลิตภาพการผลิต (Productivity) เป็นต้น ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง
นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญของอาเซียนในขณะนี้ที่ไทยจะต้องยึดมาเป็นหลักในการพลิกโฉม ประกอบด้วย ความต้องการที่จะเป็นตลาดเดียวกัน (Single Market) ที่จะเป็นการสร้างภูมิภาคที่ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ ,การพัฒนากลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้เติบโตไปด้วยกัน ซึ่ง CLMV ในขณะนี้ถือว่าเป็นเครื่องจักรของอาเซียน ที่มีอัตราการเติบโตโดยรวม 6-8% และต้องเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีโลก และต้องมีการรวมตัวเพื่อไปต่อสู้ใน UN ได้ เพื่อเข้าไปเจรจาหารือร่วมกันในรูปแบบ global economy เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในอาเซียน
อย่างไรก็ตามกระบวนการของไทยที่จะพลิกโฉม ประการแรก คือ กระบวนการ digitization ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเสรี และเริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ ,ค้าปลีก มากขึ้น โดยไทยควรเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบ ทักษะ และกฎระเบียบ รวมถึงความปลอดภัย จากการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ประการที่สอง เป็นภาพใหญ่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมของอาเซียนและสำคัญอย่างมาก คือ connectivity หรือ การเชื่อมต่อ ที่จะต้องมีความจำเป็นในการดูแลความเคลื่อนไหวของสินค้า ของต้นทุน ของคน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะตั้งเป้า connectivity เป็นโครงการของอาเซียนอย่างไรบ้าง เช่น สิงคโปร์จะเป็นผู้นำทางด้าน transportation ,เคมี,อิเล็กทรอนิกส์ และทางด้านมาเลเซีย ก็จะเป็นผู้นำทางด้านระบบการเงิน การบิน ส่วนไทย รัฐบาลก็มีการให้นโยบายออกมาแล้ว แต่ยังมีความหลากหลายอยู่มาก ซึ่งการเป็นผู้นำของไทย น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรื่อง Ecotourism ,การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ,อีโคคาร์ เป็นต้น อีกทั้งประการที่สาม การปฎิรูปการพลิกโฉม ก็น่าจะเป็นเรื่องของ Productivity การพัฒนาและวิจัย (R&D) และการมีนโยบายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน และยกระดับสินค้าให้ดีขึ้น
พร้อมกันนี้กลุ่มประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือ CLMV ซึ่งอาเซียนจะต้องมีการเติบโตไปด้วยกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมองว่าการเชื่อมโยงของ CLMV จะเป็นหัวใจสำคัญให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอนาคต รวมถึงประเทศจีนด้วย สุดท้ายการพัฒนาเกี่ยวกับข้อตกลงอัตราแลกเปลี่ยน จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอยากเห็นในโลกต่อไปในอนาคต ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป จนทำให้เกิดการแข่งขันการดำเนินนโยบายติดลบ ซึ่งจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้