รมช.พาณิชย์ มองส่งออกปีนี้เป็นบวกได้ 0-1% หลังคาดตัวเลขก.ย.เป็นบวกเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2016 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขภาคส่งออกไทยในปี 59 มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วง 0-1% จากเดิมที่ประเมินว่าจะอยู่ในช่วง -1 ถึง 0% เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มตัวเลขภาคส่งออกไทยในเดือนกันยายนที่จะประกาศในสัปดาห์หน้าจะออกมาเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมที่ตัวเลขส่งออกไทยเป็นบวกเดือนแรกที่ขยายตัว 6.5% แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีก็ตาม

การที่ตัวเลขภาคส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นการบริโภคของประเทศอื่นๆในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยที่ปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตมีการส่งออกสินค้าไปในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนการที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Thailand 4.0 ที่จะเกิดผลจริงจะต้องมีการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น สร้างเส้นทางธุรกิจใหม่ (New Start Ups) ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอาหาร กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ สปา
 กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว เช่น เทคโนโลยีด้านการเงิน อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน เทคโนโลยีการศึกษา อี–มาร์เก็ตเพลส อี–คอมเมิร์ซ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น เทคโนโลยีการออกแบบ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เป็นต้น

โดยการพัฒนาประเทศภาย Thailand 4.0 จะสำเร็จได้จะต้องใช้แนวทางการสานพลังประชารัฐเป็นตัวการขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ร่วมกันระดมความคิด ผนึกกำลังกันขับเคลื่อน ผ่านโครงการความร่วมมือ กิจกรรมและงานวิจัยต่าง ๆ โดยการดำเนินงานของประชารัฐ กลุ่มต่างๆ ได้แก่ การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ พัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ การสร้างรายได้ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ การศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ (โรงเรียนประชารัฐ) รวมทั้งการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ และการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ซึ่งแต่ละกลุ่มกำลังวางระบบและกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ