ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในระยะสั้นถึงปานกลางโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ที่รัฐบาลคาดหมายว่าจะเข้ามาช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่เรียกว่า First S-curve และ New S-curve สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เรียกว่า 2nd Wave S-curve ที่ต้องได้รับการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้ต่อไป ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) และกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุ (อุตสาหกรรมโลหะ อโลหะ ไม้ แก้ว กระจก ปูนซีเมนต์ และเซรามิค) เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความทันสมัย สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จะให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเดิมโดยเป็นการลงทุนต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve
ส่วนการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ในอุตสาหกรรม New S-curve จะยังมีไม่มากนัก โดยในระยะยาว การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ ปัจจัยด้านแรงงาน ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ระดับการพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง EEC จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่ปัจจุบันมีการลงทุนใน 3 จังหวัดนี้อยู่แล้วมากกว่าดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve จะยังมีน้อย โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนเดิมที่ต้องการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของตนออกไปในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve ในขณะที่อุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve อาจมีความน่าดึงดูดน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศทำให้ต้นทุนในการลงทุนอาจสูงกว่า หาก BOI ต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve มากขึ้น ก็ควรกำหนดสิทธิประโยชน์ของ EEC โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงกว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนประเภท อื่น ๆ ของ BOI อย่างชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุน
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในด้านความพร้อมต่ออุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve พบว่ามาเลเซียมีความพร้อมมากกว่าไทยค่อนข้างสูงในทุกด้าน และแม้ไทยจะได้เปรียบอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในเรื่องความพร้อมทางเทคโนโลยี แต่กลับมีความพร้อมด้านนวัตกรรมต่ำที่สุด ส่วนด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรมและด้านระดับ การพัฒนาของธุรกิจนั้นทั้ง 3 ประเทศมีระดับใกล้เคียงกัน โดยไทยอยู่ในระดับเดียวกับอินโดนีเซียในทั้งสองด้าน แต่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ในด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม แสดงว่าไทยไม่ได้มีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็มีนโยบายดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve ในประเทศเหล่านี้เพราะมีความพร้อมมากกว่าไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัดส่วนของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปี 2559 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2564 จากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve อาจมีสัดส่วนใกล้เคียงของเดิมที่ร้อยละ 9 และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 53 ซึ่งคาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้จะมาจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งตามนโยบายของรัฐบาล และการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก
นอกจากนี้ ในระยะยาว หากต้องการให้การลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 ก็จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าสิทธิประโยชน์จาก BOI เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการดึงดูดนักลงทุน แต่ปัจจัยด้านแรงงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานกึ่งทักษะและแรงงานมีทักษะ จึงจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมจึงจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ ส่วนงานที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงก็อาจแก้ปัญหาโดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาเป็นการชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขให้การลงทุนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) และการฝึกอบรมให้แก่แรงงานชาวไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ได้แก่ ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ระดับการพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการลงทุนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
"มองว่า ในระยะสั้นถึงปานกลาง EEC จะให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเดิมเพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมในกลุ่ม First S-curve มากกว่าดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยปี 2564 สัดส่วนการลงทุนของอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38 แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องการดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ก็จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านแรงงาน ให้การลงทุนเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่แรงงานชาวไทย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย" ศูนย์วิจัย ระบุ