นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ "Thailand's Economic Outlook 2017 อนาคตเศรษฐกิจไทย 2560" ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 60 มีทิศทางที่จะดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยบวกมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น ส่งผลมายังภาคการส่งออกของไทย แม้จะไม่ได้เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้ภาคการส่งออกต้องตกเป็นผู้ร้ายหรือตัวฉุดเศรษฐกิจไทยเหมือนในระยะหลังมานี้ นอกจากนี้ ปัญหาภัยธรรมชาติในปีหน้าเชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนเช่นในปีนี้ ซึ่งเมื่อภาวะภัยแล้งเริ่มคลี่คลายก็จะส่งผลดีต่อภาคเกษตรที่สามารถประคองตัวได้ดีขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ นางรุ่ง กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้แก่ภาคการส่งออกยังไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร แม้ในช่วงหลังจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างก็ตาม ประกอบกับรายได้ของภาคเกษตรยังขยับขึ้นได้ช้า แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีภาคบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ รายได้จากการท่องเที่ยวมาช่วยชดเชย นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐที่ถือว่าทำได้ดี โดยการเบิกจ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 ทำได้สูงกว่าที่คาด ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ บวกกับการออกมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ภาคเกษตรที่ประสบปัญหาจากภาวะภัยแล้ง จึงทำให้การบริโภคในประเทศไม่ทรุดตัวลงไปมาก และเมื่อภาวะภัยแล้งคลี่คลาย เศรษฐกิจจึงค่อยๆ เริ่มฟื้นตัว "เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนไตรมาส 4 นี้ กิจกรรมบางส่วนอาจโดนกระทบจากบรรยากาศความเศร้าโศกในประเทศ แต่เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นแม้จะอ่อนไหวแต่ก็ปรับตัวได้เร็ว ตลาดมีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อ เพียงแต่ในระยะสั้นกิจกรรมบางส่วนอาจจะชะลอลงไปบ้าง" นางรุ่ง กล่าว สำหรับการใช้นโยบายการเงินในการช่วยหนุนเศรษฐกิจนั้น นางรุ่ง กล่าวว่า จะต้องให้นโยบายการเงินช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อเป็นการเอื้อให้เอกชนสามารถระดมทุนได้คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ธปท.จะต้องใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดจุดเปราะบางที่จะไปสร้างปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นางรุ่ง มองว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่ตลาดคาดการณ์นั้น อาจจะทำให้มีเงินทุนส่วนหนึ่งไหลกลับไปยังตลาดสหรัฐบ้างแต่เชื่อว่าคงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดในเอเชีย และตลาดเกิดใหม่ยังคงมีศักยภาพการเติบโตที่ดี ซึ่งก็จะทำให้เกิดความสมดุลกัน เพราะประเทศไทยยังมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอยู่