พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน และคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการพัฒนาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) โดยได้ติดตามความคืบหน้าโครงการสถานีกักเก็บและแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวแบบลอยน้ำ (FSRU) ซึ่งเดิมกฟผ. ศึกษาความเหมาะสมโครงการ FSRU ขนาด 3 ล้านตัน/ปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ทดแทน) ชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิตชุดละ 1,300 เมกะวัตต์ และได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ครั้งที่ 2/2559 (ครั้งที่7) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 มอบหมายให้ กฟผ. ศึกษาความเหมาะสมด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ของโครงการก่อสร้าง FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบนสำหรับรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมและศึกษาข้อมูลในภาพรวมจากคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กฟผ. และบมจ.ปตท. (PTT) ก่อนนำเสนอเข้า กบง. และ กพช. ภายในเดือนธ.ค.59 พร้อมกับต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค.61
ในโอกาสเดียวกันนี้ กฟผ.ได้ให้ข้อมูลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า และการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่–เทพา ซึ่งเลื่อนไปจากแผนเดิมออกไปอีก 2 ปี พร้อมทั้งหารือถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ที่ขอเพิ่มสัดส่วนในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ (ในสัดส่วนที่เหลืออยู่ 7,000 เมกะวัตต์) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ส่วนด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ในภาพรวม มีปริมาณน้ำทั้งหมด 67% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 48% ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้น ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ราอี" และร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตลอดช่วง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ.เพิ่มขึ้น ที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์ ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งปี 2559/2560 ขณะที่เขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากและต้องเฝ้าระวังคือ เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งมีปริมาณน้ำถึง 85% เหลือที่ว่างรองรับน้ำได้อีกเพียง 360 ล้านลูกบาศก์เมตร และตามสถิติยังมีโอกาสที่จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนได้อีกจนถึงสิ้นเดือนต.ค. และยังมีโอกาสที่ฝนจะตกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากอิทธิพลของร่องมรสุม หรือในช่วงบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมา
นอกจากนี้ กฟผ. ได้นำเสนอข้อมูลน้ำสำหรับใช้ในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่จางมีปริมาณค่อนข้างน้อย โดยสามารถใช้การได้ถึงเดือนส.ค.61 ซึ่งระหว่างนี้หากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม อาจส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าได้ ในโอกาสนี้ รมว.พลังงานและคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบความพร้อมของระบบทั้งกรณีระบบไฟฟ้าปกติ และกรณีฉุกเฉินอีกด้วย