พาณิชย์รับลูก"สมคิด"เดินหน้าสร้างพันธมิตรการค้าเน้นตลาดศักยภาพ ยันไม่เลิก FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 24, 2016 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขยายความสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนกับประเทศต่างๆ ในรูปแบบของพันธมิตรทางการค้า (Strategic Partnership) โดยเน้นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นตลาดการค้า และการลงทุนของไทย อย่างจีน อินเดีย กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รัสเซีย แอฟริกา เป็นต้น ซึ่งจะเจรจาให้ประเด็นที่ไทย และประเทศคู่เจรจาสนใจร่วมกัน โดยให้ดำเนินการคู่ขนานกับการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับประเทศต่างๆ

"การทำพันธมิตรทางการค้า จะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ ไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้ง FTA ยังคงเจรจาอยู่ แต่เอฟทีเอกับบางประเทศที่ทำมานานแล้ว และยังเจรจาไม่จบ อย่างอินเดีย ก็ให้เปลี่ยนมาคุยเฉพาะสาขาที่ 2 ประเทศสนใจร่วมกัน จะไม่ทำเป็น FTAเต็มรูปแบบ ซึ่งสาขาที่ไทยสนใจ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่ต้องการความรู้จากอินเดีย และอินเดีย ก็สนใจให้ไทยเข้าไปลงทุนทำค้าปลีก เป็นต้น"รมว.พาณิชย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ จะเดินทางไปเวียดนาม เพื่อเจรจาพันธมิตรทางการค้า ซึ่งเวียดนามต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ไทยสนใจลงทุนสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ นายสมคิด จะนำคณะไทย เดินทางไปประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน (เจซี) ที่จีน โดยจะหารือเรื่องการทำพันธมิตรทางการค้าระหว่างกันด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามการทำงานของกระทรวงฯ โดยนายสมคิด ได้ย้ำในที่ประชุมว่า จะเดินหน้าการทำพันธมิตรทางการค้าอย่างเต็มที่ โดยจะเน้นเจรจาแต่เรื่องที่ไทยและประเทศคู่ค้าสนใจ และจะยังไม่ทำ FTA ขณะนี้ เพราะเจรจานานกว่าจะจบ

สำหรับการทำพันธมิตรทางการค้า ไทยได้หารือกับหลายประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นในลักษณะของคณะกรรมการร่วมทางการค้า (เจทีซี) ที่เป็นเพียงแค่ความร่วมมือ ที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และหากใครไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ถือว่าผิด ต่าง FTA ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ใครไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษ อีกทั้งพันธมิตรทางการค้า ยังเป็นการเจรจาเฉพาะเรื่อง ไม่ครอบคลุมทุกเรื่องเหมือน FTA แม้FTA จะใช้เวลาเจรจานาน แต่มีผลประโยชน์ที่มากกว่า และครอบคลุมกว่ามาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ