น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย.59 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 19,460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 3.4% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่ตลาดคาดส่งออกหดตัว -1.3 ถึง -2% เป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีการขยายตัวในเกณฑ์ดี (ยกเว้นตะวันออกกลางที่ยังหดตัว)
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอด ที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ผัก ผลไม้สด กระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป และข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการส่งออก
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,914 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ขยายตัว 5.57% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ก.ย.59 เกินดุล 2,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน
ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนของปี 59 การส่งออกมีมูลค่า 160,468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.7% การนำเข้ามีมูลค่า 142,538 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 7.3% และการค้าเกินดุล 17,930 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่า สถานะของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อีกทั้งยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ดีในเกือบทุกตลาด
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนสุดท้าย โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า และเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการออกมาตรการ QE และมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคบ้าง ดังนั้น จากแนวโน้มและปัจจัยข้างต้น กระทรวงพาณิชย์จึงคงคาดการณ์การส่งออกปี 2559 ไว้ที่ -1.0% ถึง 0.0% เช่นเดิม