ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบที่ 7 ของปี 59 ในวันที่ 1-2 พ.ย.59 เพื่อรอประเมินภาพพัฒนาการการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าถ้อยแถลงหลังการประชุมรอบนี้ อาจส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้ๆ ซึ่งอาจหมายถึงการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือน ต.ต.-พ.ย.59 ยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่สอดคล้องกับที่เฟดประเมินไว้ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คาดว่า เฟดคงจะเลือกจังหวะการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับมุมมองดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนที่ได้แสดงความคิดเห็นออกมาในช่วงก่อนหน้านี้
"เฟดน่าจะหลีกเลี่ยงการสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เพื่อไม่ให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากตลาดการเงินแทบจะไม่ได้คาดการณ์ถึงโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพ.ย.59 มากนัก (โดยขณะนี้มีความเป็นไปได้เพียง 17%) แต่ในทางกลับกันตลาดมีคาดการณ์ถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วกว่า 75% สำหรับการประชุมรอบสุดท้ายของปีในเดือนธ.ค." เอกสารเผยแพร่ระบุ
สำหรับผลต่อไทย แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุม FOMC วันที่ 1-2 พ.ย.นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเฟดน่าจะเตรียมส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบที่เหลือของปีในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเตรียมคุมเข้มของเฟดดังกล่าว อาจส่งผลบางส่วนต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ หลังจากที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเงินหยวน สกุลเงินอื่นในเอเชีย และเงินบาทปรับอ่อนค่าลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลคงทยอยปรับตัวขึ้นตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. คงไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนจุดยืนของนโยบายการเงินไปตามการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เนื่องจาก ธปท.ยังคงมีเครื่องมืออื่นๆ ที่จะใช้ดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินไทยให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศ ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าที่จะยืนในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า