พาณิชย์เตรียมเสนอ นบข.เคาะราคาจำนำยุ้งฉางข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้พิจารณาราคารับฝากเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางเกษตรกร (จำนำยุ้งฉาง) ตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เบื้องต้นกำหนดราคารับฝากเก็บไว้ที่ 90% ของราคาตลาด รวมค่าฝากเก็บอีกตันละ 1,500 บาท โดยตั้งเป้าหมายมีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 2 ล้านตัน

สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสต็อกข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า ฤดูกาลผลิตปี 59/60 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.59 - 31 มี.ค.60 ขณะนี้ได้รับแจ้งการยื่นรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้กลั่นกรองวงเงินสินเชื่อแล้ว 11 ธนาคาร มีโรงสีเข้าร่วมโครงการ 354 ราย วงเงินสินเชื่อที่กู้ยืมเพื่อมาซื้อข้าวเก็บสต็อก 2-6 เดือน มูลค่า 85,900 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวที่ซื้อเก็บสต็อก 8.92 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 8 ล้านตันเท่านั้น

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวยุ้งฉางจะกำหนดราคารับฝากเก็บไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้ง และค่าฝากเก็บเพิ่มจากเงินสินเชื่ออีกตันละ 1,500 บาท โดยจะจ่ายให้พร้อมสินเชื่อตันละ 1,000 บาท และจ่ายเมื่อไถ่ถอนข้าวหรือระบายข้าวแล้วอีกตันละ 500 บาท รวมวงเงินที่เกษตรกรจะได้รับจากการจำนำยุ้งฉางตันละ 11,500 บาท มีเป้าหมายการเก็บสต็อกประมาณ 2 ล้านตัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะพยุงราคาข้าวในประเทศ เช่น สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันสถาบันเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ในการนำไปซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 1% เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้กลไกลตลาดการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรมีการแข่งขัน เกษตรกรมีช่องทางเลือกและมีอำนาจต่อรองการขายข้าวเปลือก ซึ่งพาณิชย์จังหวัดได้กำหนดแผนการจัดตลาดนัดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในพื้นที่แล้วจำนวน 42 จังหวัด 102 ครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ