กสิกรฯ ชี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.7% กระทบ GDP ปี 60 เล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2016 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบหลักการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 โดยจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท/วัน ใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 8 จังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงได้เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศนั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ย 1.8% น่าจะเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนค่าจ้างของผู้ประกอบการในปี 2560 เพิ่มขึ้นบ้างราว 0.6% ในภาคการผลิตและภาคการค้าและบริการ และเพิ่มขึ้น 1.4% ในภาคก่อสร้าง ขณะที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 อย่างจำกัด โดยปรับสูงขึ้นอีก 0.03% และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนและ GDP ในปี 2560 เพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ย 1.8% นั้นน่าจะเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ค่าครองชีพที่วัดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้มีรายได้น้อยเดือนก.ย.59 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนธ.ค.56 (ปีที่มีการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศ) โดยจะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นบ้างที่เฉลี่ย 0.7% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนการพึ่งพิงแรงงานขั้นต่ำในสถานประกอบการว่ามีมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี การแก้ไขประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอย่างยั่งยืนนั้น ทางฝั่งแรงงานควรมีการปรับตัวโดยการยกระดับทักษะ พัฒนาฝีมือและคุณภาพแรงงานเพื่อก้าวข้ามการพึ่งพิงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ควรยกระดับห่วงโซ่การผลิตไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้สอดรับกับทางฝั่งแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ