นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพ ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา (ไฮสปีดเทรน) ระยะทาง 252.5 กม. วันที่ 29 ต.ค. ว่า การเจรจาในประเด็นหลักเรื่องแบบก่อสร้าง,ร่างสัญญาและด้านการเงิน ยังไม่เรียบร้อยและต้องหารือกันต่อไป โดยในส่วนของการปรับรหัสมาตรฐานวัสดุก่อสร้างของจีน มาเป็นรหัสมาตรฐานของไทยเพื่อถอดราคาค่าก่อสร้างกำหนดราคากลาง และเปิดประมูลตอนที่1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ยังไม่จบ โดยได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมการถอดรหัสวัสดุก่อสร้างในส่วนรายการใหญ่ต้องสรุปก่อนเปิดประมูล ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยสามารถไปตกลงกันในขั้นตอนก่อสร้างได้ เพื่อความรวดเร็ว
โดยจากแผนงานแบ่งการก่อสร้าง 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม.ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กม.ตอนที่4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม. ทั้งนี้เพื่อให้การก่อสร้างมีความต่อเนื่อง และมีระยะทางยาวพอสมควร ที่จะสามารถเดินรถได้ ไทยได้ขอให้จีนออกแบบในตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ที่อยู่ต่อจากตอนที่1 ไปเลย ซึ่ง จะทำให้มีระยะทางรวม2 ตอน มากกว่า 100 กม.
ทั้งนี้ฝ่ายจีน ต้องการให้ร่างสัญญาEngineering Procurement and Construction (EPC-2 ) สรุปก่อน จึงจะออกแบบตอนที่ 2,3 ได้ เพื่อความมั่นใจเรื่องค่าออกแบบ ซึ่งขณะนี้ การเจรจาร่างสัญญาEPC งานออกแบบ ,สัญญาควบคุมงานและ สัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุงและฝึกอบรม จะต้องเป็นสัญญามาตรฐานในบริบทของกฎหมายไทยนั้นจีนยังพิจารณาไม่เสร็จ โดยเฉพาะบททั่วไปและบทเฉพาะกาล ซึ่งรูปแบบในการว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานนั้น จะต้องเป็นบริษัทร่วม ระหว่างรัฐวิสาหกิจไทยและรัฐวิสาหกิจจีน
ส่วนการเงินซึ่งจะกู้จากจีนในการจัดหาระบบอาณัติสัญญาณ และตัวรถ สัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าโครงการที่ 179,412 ล้านบาทนั้น จีนเสนอเงินกู้สกุลหยวน อัตราดอกเบี้ย 2.8% สกุลดอลล่าร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 2.3% ซึ่งทางคลังเห็นว่าอัตรายังสูงกว่าเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น
นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้ยังยึดเป้าหมายเริ่มต้นโครงการในเดือนธ.ค.59 โดยขั้นตอนการขออนุมัติโครงการนั้น ทางการรถไฟฯ ได้ส่งเรื่องมาแล้วอยู่ระหว่างขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะเสนอครม.ได้ในพ.ย.-ธ.ค.59 ขณะที่ การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ช่วงกรุงเทพ-บ้านภาชี ได้รับอนุมัติแล้ว ส่วนช่วงบ้านภาชี-โคราช ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.)
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 16 จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือนธ.ค.59