(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.59 ขยายตัว 0.34%,Core CPI ขยายตัว 0.74 %

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 106.85 ขยายตัว 0.34% เมื่อเทียบกับ ต.ค.58 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.16% ส่งผลให้ CPI ช่วง 10 เดือนปี 59 (ม.ค.-ต.ค.59) ขยายตัว 0.06%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 106.86 ขยายตัว 0.74% เมื่อเทียบกับ ต.ค.58 และขยายตัว 0.04% เมื่อเทียบกับ ก.ย.59 ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 10 เดือนปี 59 (ม.ค.-ต.ค.59) ขยายตัว 0.74%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 116.19 เพิ่มขึ้น 0.89% เทียบกับเดือน ต.ค.58 แต่หดตัว 0.12% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.88 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.58 และขยายตัว 0.32% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ พบว่าสินค้า 450 รายการที่ใช้ในการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคนั้น มีสินค้า 142 รายการที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียว, กาแฟผงสำเร็จรูป, ผักสด, เสื้อเชิ้ต, ผงซักฟอก, สบู่, ค่าเช่าบ้าน และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้า 96 รายการ ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า, เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, นมสด และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ขณะที่สินค้า 212 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การขยายตัวของ CPI ในเดือน ต.ค.59 จัดว่าเป็นขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างอ่อน ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยระดับราคาสินค้ายังมีเสถียรภาพดี จากการดำเนินนโยบายประชารัฐที่ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อฐานราก ทำให้ครัวเรือนมีรายได้และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค.59 เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 59 ทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยสูงกว่าฐานในปี 58 รวมถึงราคาอาหารสด เช่น ผลไม้สด ไข่ไก่ และเนื้อสุกรที่ระดับราคาสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งตั้งแต่ปลายปี 58 แม้ว่าราคามีแนวโน้มลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในเดือน พ.ค.-ส.ค.59 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาค่ากระแสไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน รวมถึงราคาผักสดที่ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไว้ตามกรอบเดิมที่วางไว้ คือ 0-1% โดยสมมติฐานในส่วนของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ยังคงเดิมที่ 3.3% ในขณะที่สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นเป็น 40 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิม 35 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นเป็น 36 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 37 บาท/ดอลลาร์

แต่อย่างไรก็ดี การปรับสมมติฐานดังกล่าวยังไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั้งปี

"การปรับเปลี่ยนสมมติฐานในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบ และอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อ CPI โดยทั้งปียังคงคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อไว้ตามเดิมที่ 0-1%" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงนั้น ยังไม่มีผลกับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในส่วนของราคาข้าวสารในเดือน ต.ค. เนื่องจากราคาข้าวที่นำมาใช้คำนวณยังเป็นสินค้าในสต็อกเดิมและยังเป็นต้นทุนของเดิม ดังนั้น ในทางการตลาดราคาจึงยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทันที คงต้องรอผลผลิตรอบใหม่ที่จะออกสู่ตลาดจึงจะมีผลทำให้ราคาข้าวสารอ่อนตัวลงได้

ขณะที่ราคาเสื้อดำ ผ้าผืน ตลอดจนเครื่องกายไว้ทุกข์นั้น แม้จะมีความต้องการสินค้าจากประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่มีผลต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.เช่นกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อติดตามผลกระทบที่จะมีต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ