น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช.ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ และสถาบันการศึกษา จำนวน 18 องค์กร ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือเครือข่ายฝึกอบรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา (Food Safety Modernization Act: FSMA) ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านของกฎระเบียบย่อยทั้ง 7 ฉบับภายในปี 2562 และอาจกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบธุรกิจ และประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
18 องค์กรดังกล่าว ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บูโร เวอริทัส เซอร์ทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ควอลิตี้ เอ็กเซลเลนซ์ จำกัด และบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย
การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางด้านกฎหมาย FSMA ของสหรัฐฯในภูมิภาคอาเซียน โดย มกอช.มุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฝึกอบรมทั้ง 18 องค์กร เร่งให้ความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมหรือปรับปรุงระบบการผลิตและดำเนินการสอดคล้องตามกฎหมาย FSMA ของสหรัฐฯ รวมถึงกฎระเบียบย่อย และหลักสูตรฝึกอบรมทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรับผิดชอบของอเมริกา (USFDA)ที่ดำเนินการในปัจจุบันและอาจดำเนินการในอนาคต นอกจากนั้นยังมุ่งเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกของไทย เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้ามีความเชื่อมั่นและยอมรับในระบบควบคุม กำกับ และดูแลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารไทยเพิ่มสูงขึ้น
"มกอช.จะบูรณาการประสานงาน ติดตาม และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย FSMA ของสหรัฐฯให้แก่หน่วยงานเครือข่ายฝึกอบรม พร้อมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดำเนินงานให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรไทยทราบอย่างต่อเนื่อง" น.ส.ดุจเดือน กล่าว
ขณะเดียวกันหน่วยงานเครือข่ายฝึกอบรมจะเร่งจัดฝึกอบรมตามหลักสูตรทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรับผิดชอบของอเมริกา (USFDA) เพื่อให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งยังติดตามกำกับ และควบคุมการฝึกอบรมให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย คาดว่าจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น และมีความพร้อมรองรับเงื่อนไขทางการค้าตามกฎหมายความปลอดภัยอาหารใหม่ของสหรัฐฯ และสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ มกอช.ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังได้เตรียมความพร้อมในการยื่นขอเป็นหน่วยรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับจาก USFDA ในปี 2560 เพื่อสร้างศักยภาพและเสริมสมรรถนะการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดสหรัฐฯ คาดว่า จะช่วยผลักดันปริมาณและมูลส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปยังสหรัฐฯได้เพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐฯ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นข้าว ทูน่ากระป๋อง กุ้ง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ ผลไม้ฉายรังสี และอื่นๆ