นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ตามคาดที่ 3.3-3.5% และประเมินว่าในปี 60 เศรษฐกิจจะเติบโตราว 3.5-4.0%
"ช่วงที่ผ่านมาการส่งออกค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในกลุ่มของชิ้นส่วนยานยนต์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาการส่งออกติดลบเพียง 0.65% เป็นแรงกระตุ้นให้กับภาคอุตสาหกรรม การบริโภคครัวเรือนที่ได้รับแรงหนุนจากรายได้เกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังไม่มีผลกระทบเรื่องภัยแล้ง และน้ำท่วม
พร้อมกันนี้ยังมีได้รับแรงกระตุ้นจากการเบิกจ่าย และการลงทุนภาครัฐฯ นอกจากนี้การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 24.8 ล้านคน ขยายตัว 12% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวถึง 14% หรือ 9.1 ล้านคน"นายอิสระ กล่าว
ทั้งนี้ กกร.เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางสูง จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเศรษฐกิจของประเทศหลักหลายแห่ง เช่น สหภาพยุโรป จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร เป็นต้น จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในปี 60 และมีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะขยายตัวดีขึ้น โดยในระยะใกล้นี้ ต้องติดตามการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วันที่ 8 พ.ย. นี้ ซึ่งอาจมีผลต่อการปรับตัวของตลาดการเงินโลก
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมนั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยกระทบในช่วงไตรมาส 4 แต่อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นไม่เกิน 30 วันเท่านั้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาการขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว และการท่องเที่ยวที่ยังคาดว่าจะขยายตัวแม้อาจได้รับผลกระทบชั่วคราวจากมาตรการจัดระเบียบธุรกิจนำเที่ยว
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกปีนี้ ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะในหมวดอาหารและสินค้าเกษตรบางรายการ กกร. จึงปรับประมาณการส่งออกในปีนี้จากคาดว่าจะหดตัว -2.0 ถึง 0.0% ให้เป็นหดตัว -1.0 ถึง 0.0% โดยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ 0.65% สำหรับปี 60 ยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 0.0 ถึงขยายตัว 2.0% ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับตัวขึ้นและมีผลเพิ่มแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในช่วงข้างหน้า จึงคาดว่า ธปท.คงจะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาจากการเร่งลงทุนและการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐเป็นหลัก
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคมีการปรับตัวดีขึ้น จากการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐและการท่องเที่ยวขยายตัวดีในแทบทุกภูมิภาค ซึ่งฟื้นตัวโดดเด่นในภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยรวม มีการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีการขยายตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าเศรษฐกิจทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ภาครัฐจึงควรเร่งฟื้นตัวด้วยการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ สปป.ลาว ประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% สำหรับสินค้านำเข้าส่วนบุคคลผ่านแดนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือที่ราว 1,742 บาท ซึ่งเป็นการสร้างภาระเพิ่มขึ้นกับประชาชน สปป.ลาวที่เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในไทยจึงส่งผลต่อปริมาณการซื้อสินค้าในไทย และปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุม กกร.จะนำประเด็นนี้ไปหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 59 ที่ จังหวัดเชียงราย และในกลไกลของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อหาแนวทางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่เศรษฐกิจไตรมาส 3/59 ของสหรัฐออกมาดีกว่าคาด จึงคาดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงอย่างมีเสถียรภาพ และมีความผันผวนที่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยให้ปรับตัวดีขึ้น
"หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐแล้ว คงจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงแต่ไม่มาก และทำให้ความผันผวนของเงินน้อยลงด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าขาย การส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น"นายเจน กล่าว
สำหรับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่จะไม่กระทบกับกำลังซื้อของประชาชน เนื่องจากสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องภัยแล้ง และน้ำท่วมหมดไปแล้ว ในขณะเดียวกันภาครัฐมีกลไกให้ความช่วยเหลือชาวนาเต็มที่ และภาครัฐก็มีนโยบายที่จะดูแลในระยะยาว โดยจะเห็นได้จากการให้ชาวนายกเลิกการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งระยะยาวเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อราคาข้าว และจะมีพืชชนิดอื่นๆที่ราคาดีเข้ามาทดแทน
"เราข้าวถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ตอนนี้ภาครัฐก็เข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกด้านช่องทางการทำตลาดให้ชาวนาขายข้าวโดยตรงสู่ผู้บริโภคผ่านอีคอมเมิร์ช รวมถึงการรับจำนำยุ้งฉาง และการกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวในแต่ละพื้นที่ให้แตกต่างกันเพื่อชะลอผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ราคาไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ ทาง ส.อ.ท.เองก็ได้สั่งการให้กับประธาน ส.อ.ท. แต่ละจังหวัดหาแนวทางในการช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร การทำการตลาด รวมไปการหาพืชอื่น ๆ มาปลูกทดแทนเช่น ถั่วเหลือง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว"นายเจน กล่าว