(เพิ่มเติม) สรท.คาดส่งออกไทยปีนี้หดตัว -0.8% ถึง 0% หลัง 2 เดือนก่อนดีขึ้น, คาดปี 60 ส่งออกโต 0-1%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยในปี 59 จะหดตัว -0.8% ถึง 0% ส่วนสถานการณ์ในปี 60 คาดว่าการส่งออกจะมีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1% เนื่องจากภาวะการส่งออกของประเทศไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่สถานการณ์ส่งออกในเดือน ก.ย.59 มีมูลค่า 19,460 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.43% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 668,932 ล้านบาท ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรกมีมูลค่า 160,468 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.65%

นายนพพร เทพสิทธา ประธาน สรท.ระบุว่า สรท.ได้มีการปรับประมาณการลงเหลือที่ประมาณการส่งออกมีการติดลบน้อยลงอยู่ที่ ติดลบ 0.8% ถึงทรงตัว 0% หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2.12 แสนล้านล้านเหรียญ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบที่ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมการส่งออก 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 59) หดตัวลดลงที่ -0.65% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.6 แสนล้านเหรียญ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกที่กลับมาเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในเดือน ส.ค.เติบโต 6.50% และในเดือน ก.ย.เติบโต 3.43% เป็นสิ่งที่ดีละเป็นสัญญาณบวกที่ดีที่มีผลให้แนวโน้มภาคการส่งออกไทยในปีนี้และปีหน้ายังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

“ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา แต่ตัวเลขการส่งออกในเดือนกันยายนที่ทำได้สูงสุดในรอบปี ถือว่าเอกชนไทยมีความเข้มแข็ง สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ต้องติดตามตัวเลขการส่งออกใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หากมูลค่าการส่งออกได้ตามคาดหมาย การส่งออกจะติดลบ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนตุลาคมจะอยู่ที่ 1.85 หมื่นล้านเหรียญ เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1.71 หมื่นล้านเหรียญ และในเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ 1.77 หมื่นล้านเหรียญ"นายนพพร กล่าว

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในขณะนี้ ประกอบด้วย 1.กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในปีนี้ลงจาก 1.8% เป็น 1.6% และปรับลดทิศทางการเติบโตของการค้าโลกลงจาก 2.7% เหลือ 2.3% 2.สถานการณ์ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หลักในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ 3.ความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการเก็งกำไร และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงในอนาคต

4.การเมืองระหว่างประเทศและการก่อการรร้าย ทั้งในยุโรปและตะวันออกกกลาง 5.ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เพราะรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 6.มาตรการปกป้องตลาดของประเทศคู่ค้า เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศของตนเอง 7.ความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทย ทั้งการหาตลาดใหม่และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และ 8.ทิศทางและความคืบหน้าในการเจรจา FTA กรอบต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้คู่ค้าประวิงการเจรจาทั้งการซื้อขายและการลงทุน

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 4/59 คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตและกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย โดยได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทมีการอ่อนลง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอยู่ในกรอบจำกัด อีกทั้งการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว การส่งออกทองคำยังมีแนวโน้มเติบโต และตลาดในกลุ่ม CLMV ยังขยายตัวได้ดี

ส่วนปัจจัยลบก็ยังคงมีอยู่ ได้แก่ การปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลงเป็น 2.3% จาก 2.7% สถานการณ์ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค การปรับตัวของผู้ส่งออกไทย และทิศทางร่วมไปถึงความคืบหน้าในการเจรจาเขตการค้าเสรีจะช่วยหนุนภาคการส่งออก


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ