นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.59 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 73.1 จาก 74.2 ในเดือน ก.ย.59 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ต.ค.อยู่ที่ 62.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 67.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 89.6
สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญในเดือน ต.ค. ได้แก่ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังทรงตัวในระดับต่ำเช่นกัน ประกอบกับ ผลผลิตบางชนิด เช่น ข้าว เกิดความเสียหายจากภาวะฝนตกหนัก จึงทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ และความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การส่งออกในเดือน ก.ย.59 ขยายตัว 3.43% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 60 ว่าจะเติบโตได้ 3.4% ส่วนปีนี้ยังคงคาดการณ์ไว้ตามเดิมที่ 3.3%, ความคาดหวังของประชาชนว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง, สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและอนาคตที่ยังปรับตัวดีขึ้นไม่มากเท่าที่ควร ประกอบกับ สถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรในปัจจุบันและแนวโน้มที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาต่ำ ส่งผลต่ออำนาจซื้อในปัจจุบันและอนาคตของประชาชนทั่วประเทศ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 1/60 เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมีความเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง