นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวนาตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 วงเงินรวม 27,410 ล้านบาท และโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิปีการผลิต 2559/60 วงเงินรวม 19,375 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,785 ล้านบาท
"เมื่อชาวนาทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ขอให้ทำการลดความชื้น และดูแลคุณภาพข้าวก่อนนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง แล้วจึงไปติดต่อพนักงาน ธ.ก.ส.ใกล้บ้านท่าน ให้มาดำเนินการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดย ธ.ก.ส.พร้อมโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 3 วัน"นายลักษณ์กล่าว
ทั้งนี้ ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเงินเป็นสินเชื่อเพื่อชะลอการขายจาก ธ.ก.ส.ตันละ 9,500 บาท (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) ระยะเวลาคืนเงินไม่เกิน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย และได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ตามโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกฯ นอกจากนี้ชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกตันละ 2,000 บาท (คำนวณจากการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) ตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ รวมเป็นเงินที่ชาวนาจะได้รับทั้งสิ้น 13,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก
สำหรับชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกไว้รอราคาและต้องขายข้าวเปลือกเอง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท เพิ่มเติมจากราคาข้าวเปลือกที่ขายได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง
อนึ่ง ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกฯ ให้ครอบคลุมถึงสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวเปลือกด้วย
สำหรับฤดูการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวนาทั้งมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว ประกอบด้วย
1. การแบ่งเบาภาระหนี้สินเกษตรกร ผ่านโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 ให้กับชาวนาที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยพักชำระต้นเงินให้เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ต่อปี มีชาวนาได้รับประโยชน์จำนวน 2 ล้านราย
2. การลดต้นทุนการผลิต ผ่านโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 - 31 ธันวาคม 2559 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีชาวนาได้รับประโยชน์ 3.7 ล้านราย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 2.8 ล้านราย เป็นเงิน 23,262 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิตได้ตันละ 2,500 บาท
3. การคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 พื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ทั้งนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 1.5 ล้านคน มีพื้นที่เอาประกันภัย 27 ล้านไร่ รวมค่าเบี้ยประกันภัย 2,700 ล้านบาท
4. การรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ให้กับ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน-ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับจำหน่าย/แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
นายลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมอบหายให้ฝ่ายจัดการไปจัดทำโครงการเพื่อรองรับและบริหารความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปก่อนหน้านี้ หลังจากที่มีการประเมินในเบื้องต้นว่าจะมีข้าวเปลือกประมาณ 20% ของจำนวนข้าวที่เข้าร่วมโครงการที่เกษตรกรจะไม่มาไถ่ถอนคืน ซึ่งในส่วนนี้ได้วางแผนให้มีการนำข้าวดังกล่าวมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อบรรจุถุงละ 5 กก.จำหน่าย ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
"เรามีข้อมูลว่าข้าวเปลือก 2 ตัน นำมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารได้ 1 ตัน ในส่วนนี้มีต้นทุนอยู่ที่ 19 บาท/กก. ปีที่ผ่านมา เราได้ทดลองนำข้าวที่เข้าโครงการดูแลเสถียรภาพราคาของธนาคารมาสีแปรสภาพ พร้อมทั้งบรรจุถุงขาย 5 กิโลกรัม ตรา A-Rice ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 4 บาท เมื่อรวมกันต้นทุนก็จะอยู่ที่ราว 23-24 บาท ซึ่งส่วนนี้ธนาคารมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ โดยมีโรงสีที่พร้อมดำเนินการ 140 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตเพียงพอรับได้อย่างแน่นอน" นายลักษณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ เพื่ออำนวยสินเชื่อประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในการเติมสภาพคล่องให้โรงสีทั่วประเทศเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่คาดว่าจะมีประมาณ 8 ล้านตัน เบื้องต้นคิดอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยรัฐบาลจะมีการชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ระยะเวลา 3-6 เดือน
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 4 เรื่อง คือ 1. อยากเห็นกลไกตลาดด้านสินค้าเกษตรทำงาน โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงระบบตลาด 2. ให้มีการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับตลาด 3. มีการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเพาะปลูกของเกษตรกร มีระบบตลาดกลางเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น โดยให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อเข้ามารองรับเรื่องการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและการเพิ่มอำนาจการต่อรอง และ 4. รัฐบาล โดย ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน