นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย พร้อมคณะกรรมการสมาคมตั้งโต๊ะแถลงข่าวกรณีกระแสข่าวร่วมมือกับกลุ่มการเมืองกดราคาข้าว โดยยืนยันว่าผู้ประกอบการโรงสี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศราว 1 พันรายในกว่า 50 จังหวัด ไม่ได้เป็นผู้กดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาและการรับซื้อข้าวสารของโรงสีไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในความเป็นจริงโรงสีข้าวไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวสารเองได้ เนื่องจากเมื่อแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารก็ต้องขายข้าวผ่านพ่อค้าที่เป็นผู้ส่งออก ดังนั้น พ่อค้าผู้ส่งออกจะเป็นผู้กำหนดราคาซื้อ-ขายข้าวสารเพื่อนำมาคำนวณกลับเป็นราคาข้าวเปลือก
"ผมยืนยันว่าการรับซื้อข้าวสารของโรงสีไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลักการทำงานคือการให้ความร่วมมือกับทุกรัฐบาล ให้ความสำคัญกับชาวนาเป็นอันดับแรก และไม่ยุ่งการเมือง แต่อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการของสมาคมได้ส่งข้อมูลชี้แจงเรื่องสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำไปให้กับทางรัฐบาลแล้ว แต่อาจเกิดความคลาดเคลื่อนและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดคิดว่าโรงสีร่วมกับฝ่ายการเมืองไม่รับซื้อข้าวและกดราคารับซื้อจากชาวนา"นายมานัส กล่าว
ส่วนราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากราคาตลาดโลก ขณะที่ราคาที่โรงสีรับซื้อจะใช้ราคาจากผู้ส่งออกซื้อข้าวจากโรงสี มาคำนวณราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร โดยราคาที่เกษตรกรได้รับจะขึ้นอยู่กับความชื้น หากมีความชื้นสูงจะได้ราคาต่ำตามเปอร์เซนต์ความชื้น
นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาถึงราคาข้าวสารที่โรงสีขายออกไปด้วยว่ามีความสอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกหรือไม่ ณ ราคาปัจจุบันที่โรงสีขายออกไปนั้น มีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกันกับราคาข้าวเปลือก ไม่ได้สวนทางกันแต่อย่างใด ขณะนี้ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% ราคาตันละ 9,000 -9,500 บาท ข้าวสารหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 7,200-7,500 บาท ข้าวสาร 5% ราคาตันละ 11,000 บาท นอกจากนี้ ยังพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเครื่องชั่งเพื่อความโปร่งใส และเสนอให้มีเครื่องชั่งกลางเพื่อให้ชาวนาได้ตรวจสอบก่อนมาจำหน่ายโรงสีด้วย
ทั้งนี้ ตลอดเวลาโรงสีข้าวจะดำเนินงานด้วยหลักการอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงสีได้รับความเดือดร้อน ก็ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารพาณิชย์มาใช้ในการรับซื้อข้าวจากชาวนา และโรงสีต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ แต่เมื่อราคาข้าวตกต่ำและมีข่าวกดราคาข้าว ธนาคารก็ตัดลดวงเงินกู้ให้โรงสีลงถึง 50% เพื่อลดอัตราความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งโรงสีมีแผนจะรับซื้อข้าวเปลือกปีการผลิต 59/60 ถึง 8 ล้านตัน ในวงเงิน 80,000 ล้านบาท ส่วนการที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 3% ของดอกเบี้ยที่โรงสีต้องจ่ายนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับวงเงิน 80,000 ล้านบาทที่สมาชิกโรงสีจ่ายไป
อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวดังกล่าวที่สะท้อนภาพลักษณ์ของโรงสีในเชิงลบ สมาคมโรงสีข้าวไทยได้พยายามให้ความร่วมมือกับทางราชการ ให้ความซื่อสัตย์ ยุติธรรมแก่ชาวนา แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
"ตนในฐานะนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยพร้อมคณะกรรมการทั้งหมดขอประกาศลาออกและยุติบทบาทในสมาคมโรงสีข้าวไทย แต่ก็ได้ขอความร่วมมือกับสมาชิกสมาคมโรงสีข้าวไทยให้รับซื้อข้าวจากชาวนาต่อไป"นายมานัส กล่าว
ด้านนายวิชัย ศรีนวกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และประธานกลุ่มโรงสีข้าวหอมมะลิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังจาก ครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย.มีมาตรการการจำนำยุ้งฉางข้าวหอมมะลิราคาตันละ 13,000 บาทออกมา เท่าที่ดูในพื้นที่ภาคอีสาน พบว่าเกษตรกรเริ่มชะลอการขายข้าวและมีการนำข้าวมาตากเพื่อลดความชื้นเหลือ 15% เพื่อเอาไปเข้ายุ้งและไปจำนำกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มากขึ้น และช่วง 2 วันมานี้แนวโน้มราคามีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่อ่อนตัวลงไปเพราะการไหลของข้าวจากชาวนาสู่ตลาดมีไม่มาก