นายกฯ รับโครงการคมนาคมไม่ต่ำกว่า 20 โครงการยังไม่ผ่าน EIA เหตุชุมชนต้าน สั่งเร่งทำความเข้าใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 4, 2016 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเดินทางตรวจวเยี่ยมกระทรวงคมนาคมว่า เท่าที่ติดตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐของกระทรวงคมนาคมไม่ต่ำกว่า 20 โครงการที่ยังไม่สามารถผ่านผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งบางพื้นที่ก็ยังมีปัญหาผู้บุกรุกที่ยังไม่สามารถย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า จึงต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่จะต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ และอาจจะย้ายประชาชนเหล่านนี้ไปทีแฟลตหรือที่อยู่ใหม่ โดยไม่ต้องการใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินโครงการเหล่านี้ ไทยก็จะไม่สามารถพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไปสู่เศรษฐกิจใหม่ หรือไทยแลนด์ 4.0 ระบบโลจิสติกส์ที่จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกื้อหนุนกับการพัฒนาประเทศ

ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ - นครราชสีมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ได้มีการพูดคุยกันตลอด โดยเส้นทางการเดินรถชัดเจนแล้ว แต่โครงการนี้ยังไม่ผ่าน EIA โดยมีแรงต่อต้านทั้งจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการแน่นอน และจะต้องเห็นผลในปี 60

สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Economic Eastern Corridor Development : EEC) จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ โดยได้มีถนน ทางรถไฟ สนามบินอู่ตะเภาที่จะเปิดได้ปีหน้า และท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งท่าเรือสัตหีบ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้า ทั้งหมดรัฐบาลพร้อมทำทุกอย่าง แต่ติดเรื่องงบประมาณ จึงทำให้เร็วทันทีไม่ได้ ทั้งนี้รัฐบาลมุ่งหวังให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงการต่างๆ แต่หากกระทบคนส่วนน้อยก็น่าจะทำได้เพราะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมพร้อมสร้างเมืองใหม่ตามโครงข่ายคมนาคมเส้นทางใหม่ จากเมืองเก่าที่แออัดรองรับประชาชน

"ผมติดตามงานกระทรวงคมนาคมมาตลอด เพราะแต่ละเรื่องเข้าที่ประชุมครม. จึงรู้หมด แต่ยอมรับหลายโครงการเดินหน้าไม่ได้เพราะ ไม่ผ่าน EIA มีปัญหาประชาชนบุกรุกพื้นที่ เมื่อไม่ออกจากพื้นที่ก็ก่อสร้างไม่ได้...รัฐบาลนี้เริ่มต้นโครงการ ให้รัฐบาลหน้าทำต่อ 5 ปี 10 ปีข้างหน้า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม 20 ปี (ปี 59- 79) สอดคล้องกับยุทธศาตร์ของชาติ 20 ปี โดยจะแบ่งทำช่วง 4 ช่วงๆ ละ 5 ปี โดยในช่วงปีงบประมาณ 57 -60 รัฐบาลนี้จะดำเนินการ และหลังจากนั้นจะส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมตรีได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงคมนาคม เพราะช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีรู้และเข้าใจว่าทุกคนทำงานหนัก และดูแลให้ประชาชนเดินทางมาสักการะพระบรมศพได้อย่างปลอดภัย

สำหรับในช่วง 3 ปีนี้ กระทรวงคมนาคมได้ผลักดันโครงการจำนวนมาก จากที่เคยล่าช้ามากว่า 10 ปี โดยแผนปฏิบัติการ(Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งในปี 59 สามารถดำเนินการได้ 16 โครงการจาก 20 โครงการ และในปี 60 ก็จะมีจำนวน 20-30 โครงการ เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 59 เน้นการเชื่อมต่อโครงข่าย และเน้นการทำงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานราบรื่น และให้การพิจารณา EIA ได้อย่างไม่มีปัญหา รวมทั้งได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดวางผังเมือง ซึ่งจะได้เสนอ ครม.อนุมัติในคราวเดียว

รวมทั้งได้ทำแผนแม่บทต่างๆ ที่รัฐบาลปกติจะได้นำไปปฏิบัติงานได้ ได้แก่ แผนแม่บทถนนทางหลวง 4 ช่องจราจร, แผนแม่บทรถไฟทางคู่, แผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง, แผนแม่บทรถไฟ้าระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพ เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ในรัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์คมนาคม ในระยะ 20 ปี ที่มีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การให้บริการ การพัฒนาบุคคลากร บรูณาการกฎหมาย การนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งสามามารถดำเนินการพร้อมกันไปได้ เพราะเป้าหมายกระทรวงคมนาคมมุ่งไปที่ประสิทธิภาพโครงข่ายทั้งบก น้ำ จะต้องเชื่อมต่อได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นมาก เพราะทุกวันนี้การเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ใช้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับทางเรือที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตนได้ปรับวิธีการทำงานของกระทรวงคมนาคม ให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเรื่องสิ่งแวดล้อมทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชุมชน ถ้ามีเสียงประชาชนต่อต้านก็พูดคุยทำความเข้าใจ และให้มีส่วนร่วม นอกจากนี้ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับวิถีชีวิตของประชาชน และสภาพภูมิทัศน์ของพื้นที่ออกแบบให้กลมกลืน เช่น การตัดต้นไม้ เป็นต้น

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทนั้น นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังคงเป้าหมายเดิมที่จะเริ่มดำเนินการใน ธ.ค.59 ในเส้นทางตอนที่ 1 ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แต่เรื่องออกแบบก่อสร้างและร่างสัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าแบบก่อสร้างช่วงแรกทำไม่ได้ ช่วงต่อไปก็ดำเนินการไม่ได้ โดยแบบก่อสร้างที่ออกมาต้องตรงตามกฎระเบียบการประกวดราคาของไทย ถ้าแบบที่ออกมาเป็นของจีนจะเปิดประมูลไม่ได้ ซึ่งทางจีนเข้าใจ เพราะโครงการนี้ใช้เงินลงทุของไทย และใช้กติกาการประกวดราคาของไทย แต่หากเสร็จไม่ทันก็ขอขยายเวลาได้ ถ้าแบบไม่พร้อมก็เปิดประมูลไม่ได้ อนึ่ง จะมีการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในปลาย พ.ย.นี้

ทั้งนี้ โครงการนี้ได้แบ่งเป็น 2 ส่วนโดยส่วนแรก กรุงเทพ-บ้านภาชี ได้ผ่าน EIA แล้ว และอีกส่วน บ้านภาชี-นครราชสีมา ยังไม่ผ่าน EIA ซึ่งเส้นทางผ่านภูเขาจึงต้องใช้เวลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ