"สถิตย์"ชู 5 เศรษฐกิจกระแสใหม่หนุนไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2016 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวปฐกถาในหัวข้อ "เศรษฐกิจกระแสใหม่กับการปฎิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย"ภายในงามสัมมนาเชิงวิชาการ"เจาะเศรษฐกิจกระแสใหม่ประเทศไทยปี 60"ว่า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายที่จะทำให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ซึ่งการจะขึ้นไปได้น่าจะใช้ระยะเวลาราว 15 ปี เพื่อให้คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 12,735 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี จากปัจจุบันรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,780 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี และจะต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 3-4% ต่อปี

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะต้องมาจากอุตสากรรมใหม่ๆ และอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่จะต้องมีการส่งเสริม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเกษตรกรรมรูปแบบใหม่, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง รวมถึงการเติบโตจะต้องมีการเติบโตแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายสถิตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือ New Economic ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจชีวภาพ คือการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศ ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก ที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสามารถส่งออกไปได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับ เกษตร ,ยา หรือสาธารณสุขทางการแพทย์,อาหาร รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

2.เศรษฐกิจดิจิตอล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประโยชน์และเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันไทย ยังเป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในระดับกลาง ซึ่งยังไม่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลจะต้องเปิดกว้างให้เกิดการทดลองในด้านธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้มากขึ้น

3.เศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกัน และกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่นในเรื่องของแฟชั่น ,อาหาร,การออกแบบสถาปัตยกรรม ,คอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์และเอนิเมชั่น ,การแสดง ละคร หรือวิทยุ ซึ่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่โลกต้องจับตามอง คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเกาหลี ตัวอย่างคือ เกาหลีมีการถ่ายทอดภาพยนตร์ซีรีย์เรื่อง แดจังกึม ส่งผลให้มีผู้ชมสามารถเข้าถึงเกาหลีได้มากขึ้น และมีความชอบในด้านอาหารเกาหลี รวมถึงไปถึงแฟชั่น และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย ขณะที่ไทยเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันคิดเป็น จีดีพีของไทยราว 13.5% ของดัชนีมวลรวมของประเทศ ซึ่งไทยจะต้องมีการผลักดันให้มากขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

4.เศรษฐกิจที่มีการเติบโตจะต้องเติบโตไปพร้อมกับสังคม ที่เชื่อมโยงระหว่าง ทุนนิยม ด้วยเป้าหมายของ สังคมนิยม และมีการดำเนินการที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม โดยประเทศไทยมีทุนมากมายทั้งจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนด้าน CSR ต่อปีถึง 10,000 ล้านบาท องค์กร,มูลนิธิ ปีละ 70,000 ล้านบาท และกองทุนต่างๆของภาครัฐ อีกจำนวนมาก หากนำมาทำประโยชน์เพื่อสังคม ก็จะส่งผลให้สังคมนั้นมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

และ 5.เศรษฐกิจผู้สูงวัย ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในเศรษฐกิจ Digital Economic เนื่องจากในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งหมด จากปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะมีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ยังเป็นผู้สูงวัยติดสังคม หรือราว 79.5% ที่ถือว่าเป็นผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพ มีความแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้เช่นคนหนุ่มสาว ซึ่งจะต้องมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ