(เพิ่มเติม) "สถิตย์"ชู 5 เศรษฐกิจกระแสใหม่หนุนไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2016 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวปฐกถาในหัวข้อ "เศรษฐกิจกระแสใหม่กับการปฎิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย"ภายในงามสัมมนาเชิงวิชาการ"เจาะเศรษฐกิจกระแสใหม่ประเทศไทยปี 60"ว่า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายที่จะทำให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ซึ่งการจะขึ้นไปได้น่าจะใช้ระยะเวลาราว 15 ปี เพื่อให้คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 12,735 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี จากปัจจุบันรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,780 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี และจะต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 3-4% ต่อปี

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะต้องมาจากอุตสากรรมใหม่ๆ และอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่จะต้องมีการส่งเสริม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเกษตรกรรมรูปแบบใหม่, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างทั่วถึง รวมถึงการเติบโตจะต้องมีการเติบโตแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายสถิตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือ New Economic ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจชีวภาพ คือการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศ ทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก ที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสามารถส่งออกไปได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับ เกษตร ,ยา หรือสาธารณสุขทางการแพทย์,อาหาร รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

2.เศรษฐกิจดิจิตอล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประโยชน์และเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันไทย ยังเป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในระดับกลาง ซึ่งยังไม่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลจะต้องเปิดกว้างให้เกิดการทดลองในด้านธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้มากขึ้น

3.เศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกัน และกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่นในเรื่องของแฟชั่น ,อาหาร,การออกแบบสถาปัตยกรรม ,คอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์และเอนิเมชั่น ,การแสดง ละคร หรือวิทยุ ซึ่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่โลกต้องจับตามอง คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเกาหลี ตัวอย่างคือ เกาหลีมีการถ่ายทอดภาพยนตร์ซีรีย์เรื่อง แดจังกึม ส่งผลให้มีผู้ชมสามารถเข้าถึงเกาหลีได้มากขึ้น และมีความชอบในด้านอาหารเกาหลี รวมถึงไปถึงแฟชั่น และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย ขณะที่ไทยเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันคิดเป็น จีดีพีของไทยราว 13.5% ของดัชนีมวลรวมของประเทศ ซึ่งไทยจะต้องมีการผลักดันให้มากขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

4.เศรษฐกิจที่มีการเติบโตจะต้องเติบโตไปพร้อมกับสังคม ที่เชื่อมโยงระหว่าง ทุนนิยม ด้วยเป้าหมายของ สังคมนิยม และมีการดำเนินการที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม โดยประเทศไทยมีทุนมากมายทั้งจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนด้าน CSR ต่อปีถึง 10,000 ล้านบาท องค์กร,มูลนิธิ ปีละ 70,000 ล้านบาท และกองทุนต่างๆของภาครัฐ อีกจำนวนมาก หากนำมาทำประโยชน์เพื่อสังคม ก็จะส่งผลให้สังคมนั้นมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

และ 5.เศรษฐกิจผู้สูงวัย ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในเศรษฐกิจ Digital Economic เนื่องจากในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งหมด จากปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะมีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ยังเป็นผู้สูงวัยติดสังคม หรือราว 79.5% ที่ถือว่าเป็นผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพ มีความแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้เช่นคนหนุ่มสาว ซึ่งจะต้องมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ประเทศไทย สามารถเป็นผู้นำโลกได้ ไม่ใช่แค่ในอาเซียน ถ้าไทยสามารถเดินอย่างมียุคศาสตร์และทิศทาง และสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญไทยควรตั้งหลักประเทศให้ได้ สร้างการเป็นผู้นำ และยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไทยจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยของวิกฤตการณ์

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากอดีตเจอจุดเปลี่ยนในหลายครั้ง แต่ไทยยังไม่เคยแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ และลืมรากฐานหรือรากแหง้าของตนเอง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกระแสการเติบโตของโลก เช่น ฟินเทค และอีคอมเมิร์ซต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้ทั่วโลกดำเนินการเศรษฐกิจดิจิตอลก็ยังเกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจอยู่

"ครูที่ดีที่สุดของการเดินเส้นทางปฎิรูปเศรษฐกิจของเราตลอด 70 ปี นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการวางแนวทางไว้ ขอเพียงเราได้เรียนรู้และนำมาปฎิบัติ"

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจรูปแบบใหม่จะต้องเติบโตมาจากเทคโนโลยี เนื่องจากธุรกิจรูปแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานผลิต ใช้เพียงเทคโนโลยี โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือซึ่งมีบทบาทสำคัญมากต่อกระแสสังคมในปัจจุบันซึ่งทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว

มองว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโต ควบคู่กับการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรของไทยมีคุณภาพสูง แต่นิยมปลูกตามกระแสกันมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว เช่น ไทยมีสมุนไพรของดี ต่างชาติเอาไปผลิตขายดี เราต้องผลิตได้เองบ้าง ขณะที่ภาครัฐต้องสนับสนุน SMEs

ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า New Economy หรือรัฐบาลเรียกว่าประเทศไทย 4.0 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจ จากการไหลเข้ามารวมกันทั้ง 3 ระบบ คือ ดิจิตอล ,นาโน และไบโอเทค โดย 4.0 จะทำให้เกิด การเชื่อมโยงทุกสิ่งด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things), ควอนตัมคอมพิวเตอร์, 3D printing, Material, Energy storage ขณะที่ฟินเทคก็จะไม่ใช่แค่ฟินเทค แต่จะนำไปสู่ Blockchain

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทย 4.0 จำเป็นจะต้องปรับปรุงในส่วนราชการ รัฐบาลจะต้องทำระบบฐานข้อมูล และระบบบัญชีเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น เปิดให้เอสเอ็มอีสามารถทำข้อมูลธุรกรรมต่างๆในวันหยุดได้ เพราะแข่งขันกันสูง

ด้านกฏหมายต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งยังอ่อนแอทำให้เราเติบโตแบบจีนไม่ได้ เช่น อาลีบาบา ที่มีรัฐบาลจีนช่วยกันไม่ให้ผู้ประกอบการจากประเทศอื่นเปิดบริการอีคอมเมิร์ซได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยติดตามข่าวสารต่างประเทศน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จะต้องติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกและนำมาปรับใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ