ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี มีโอกาสเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท และจบปีที่อัตราการเติบโตที่ระดับ 2.0% ตามแรงหนุนของปัจจัยด้านฤดูกาลที่ลูกค้ามักพักเงินในเงินฝากออมทรัพย์ช่วงท้ายปี เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้รองรับการใช้จ่ายในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่น่าจะมีความต้องการพักเงินเพิ่มเติมจากปีก่อนๆ เพื่อรอจังหวะการเข้าลงทุนเพิ่มเติมเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
นอกจากนั้น แรงกดดันจากการไหลออกของเงินฝากยังมีแนวโน้มลดลงเทียบกับปีก่อน โดยการครบกำหนดของเงินฝากประจำในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีจำนวนราว 1.4 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณราว 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถออกแคมเปญเงินฝากเพื่อประคองปริมาณเงินฝากประจำไว้ได้ใกล้เคียงกับระดับ ณ สิ้นเดือน ก.ย.59
ส่วนทิศทางการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในช่วงท้ายปี คงอยู่ในบรรยากาศประคองตัวดังเช่นในช่วง 9 เดือนแรกของปี ท่ามกลางความต้องการใช้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำจากการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า แม้การทำการตลาดของธนาคารพาณิชย์อาจลดความหวือหวาลงบ้างเพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน แต่ธนาคารพาณิชย์จะยังคงนำเสนอแคมเปญเงินฝากพิเศษที่มีความหลากหลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การออมของแต่ละกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ชูจุดขายเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะเงินฝากระยะกลางที่อาจเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กกลับมาแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษฟรีค่าธรรมเนียม ผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษปลอดภาษี ตลอดจนเงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษเมื่อเปิดบัญชีควบคู่กับผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อรับมือกับผลิตภัณฑ์เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พันธบัตรออมทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประหยัดภาษีอื่นๆ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายปี
"แม้การเติบโตของเงินฝากที่ระดับ 2.0% ในปี 2559 จะเป็นอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำซึ่งสอดคล้องกับสินเชื่อที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ด้วยจำนวนแคมเปญเงินฝากที่คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยผลักดันเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องแล้ว คงช่วยเพิ่มทางเลือกในการออมได้มากขึ้น นอกเหนือไปจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กองทุนรวม และประกัน เพื่อความครบถ้วนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมและตอบโจทย์เรื่องผลตอบแทนไปพร้อมๆ กัน"
ด้านสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันต่อเงินฝากรวม (CASA) ในช่วงท้ายปีนี้ คงปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับสูงกว่า 60% จากระดับ 57.3% ณ สิ้นปี 2558 จากการเติบโตของเงินฝากประเภทออม ทรัพย์ที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นกว่าเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี แม้เงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันจะเร่งขึ้น แต่แนวโน้มการแสวงหาผลตอบแทน (Search For Yield) ของกลุ่มลูกค้ารายย่อยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังสะท้อนผ่านอัตราการเติบโตของเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัฑณ์ใกล้เคียง เช่น กองทุนรวมและประกันชีวิต ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันที่สูงกว่าเงินฝากประจำนั้น อาจเป็นผลจากความต้องการพักเงินระยะสั้นและความต้องการสภาพคล่องของผู้ออมเป็นหลัก ส่วนการแสวงหาผลตอบแทนจากการออมนั้น ผู้ออมอาจเลือกลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ
ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารพาณิชย์อาจต้องปรับสัดส่วน CASA ลงจากปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับเกณฑ์ LCR ทั้งนี้ เนื่องจากเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio:LCR) ตาม Basel III กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีโครงสร้างแหล่งเงินทุนระยะกลางและระยะยาวที่มั่นคง ซึ่งหมายถึงธนาคารพาณิชย์อาจต้องให้น้ำหนักกับผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะกลางและยาวเพิ่มขึ้น และทยอยปรับลดสัดส่วน CASA ลงในอนาคต แต่ทั้งนี้เพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่สูงกว่าที่เกณฑ์ LCR กำหนดค่อนข้างมาก ทำให้แต่ละธนาคารสามารถบริหารเงินฝากและปรับลดสัดส่วน CASA แบบค่อยเป็นค่อยไปได้โดยไม่กระทบต่อทิศทางเงินฝากและสภาพคล่องของธนาคารโดยรวม
ทั้งนี้ ภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 พบว่าเงินฝากช่วง 9 เดือนแรกของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศหดตัวลง 0.1% จากสิ้นปีก่อนหน้า (YTD) มาอยู่ที่ระดับราว 11.24 ล้านล้านบาท หรือลดลง 1.1 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำในกลุ่มลูกค้าผู้ฝากเงินรายย่อย ภาคธุรกิจ และกองทุนต่างๆ ขณะที่เงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์ยังเติบโตได้จากปีก่อน ซึ่งทำให้สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ขยับขึ้นมาที่ระดับ 59.9% ของเงินฝากรวมของธนาคารพาณิชย์ เทียบกับระดับ 57.3% ณ สิ้นปี 2558 ทั้งนี้ แม้ภาพรวมเงินฝากจะหดตัวลงเล็กน้อย แต่จำนวนแคมเปญเงินฝากในช่วง 9 เดือนแรกกลับหนาแน่นขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มปรับลดลงเทียบกับต้นปี 2558 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของธนาคารที่ปรับลดลงและมุมมองของธนาคารพาณิชย์ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะกลางมีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะสั้น ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษระหว่างกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีแนวโน้มแคบลงเมื่อเทียบกับอดีต โดยสเปรดผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษระยะสั้นของแบงก์ใหญ่กับแบงก์กลางปรับลดลงจาก 0.2 – 0.25% ในปีก่อนมาที่ระดับ 0.10 – 0.20% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ สเปรดระหว่างแบงก์ใหญ่กับแบงก์เล็กปรับลดลงมาที่ระดับ 0.3 – 0.35% จากปีก่อนที่ 0.32 – 0.52%
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าทิศทางการปรับลดลงของดอกเบี้ยดังกล่าว สะท้อนถึงการบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่เน้นการบริหารในระยะสั้นถึงระยะกลาง ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายให้ใกล้เคียงกับรายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อเพื่อประคองความสามารถในการทำกำไร" เอกสารเผยแพร่ระบุ