นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ย.59 - 30 เม.ย.60 คิดเป็นวงเงินชดเชยรวมทั้งสิ้น 2,268 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางต่อไป
สำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดา (รถร้อน) จำนวน 800 คัน/วัน ใน 73 เส้นทาง ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในวงเงิน 1,783 ล้านบาท
ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 152 ขบวน/วัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวน/วัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในวงเงินจำนวน 585 ล้านบาท
พร้อมขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ในการเชื่อมการเดินทางสาธารณะของประชาชนอย่างครบวงจรให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย
นายณัฐพร กล่าวว่า ในอนาคตรัฐบาลคาดหวังว่าจะให้สิทธิประโยชน์ด้านการเดินทางนี้เฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งระหว่างนี้กรมสรรพากรกำลังตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ และกระทรวงคมนาคมจะได้ออกบัตรให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อจะได้มาใช้สวัสดิการเหล่านี้ โดยเมื่อสิ้นสุดการต่ออายุมาตรการในรอบนี้แล้ว คือตั้งแต่ พ.ค.60 เป็นต้นไปก็จะเริ่มให้ใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยได้
"ที่ผ่านมา แต่ละรัฐบาลได้มีการต่ออายุโครงการรถเมล์-รถไฟฟรีไปแล้วถึง 20 ครั้ง โดยล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 21 ซึ่งหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโครงการนี้แล้ว เพราะจุดประสงค์คือต้องการโฟกัสไปยังคนที่จนจริงๆ ไม่ใช่ใครก็ขึ้นได้หมด" ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ระบุ