นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีที่อยู่อาศัย และมีรายได้พอเลี้ยงชีพ ซึ่งหากไม่เตรียมมาตรการรองรับไว้อาจสร้างปัญหาต่อครอบครัว และอาจสร้างภาระให้ประเทศในเชิงงบประมาณ
"ปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพ เงินสมทบ กอช. รวมกันแล้วเป็นเงินกว่า 287,000 ล้านบาท แต่ในปี 2567 จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณมากถึง 698,000 ล้านบาท หรืออีกสองเท่าตัว" นายกอบศักดิ์ กล่าว
โดยเมื่อปี 2551 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ราว 10% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2568 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20% หรือราว 13-14 ล้านคน
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ครม.มีมติให้ดำเนินการใน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วยการให้นายจ้างนำเงินค่าจ้างผู้สูงอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้สองเท่า แต่ต้องใช้สิทธิ์ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุราว 9.4 หมื่นคน อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 3,300 ล้านบาท
2.มาตรการสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) ซึ่งจะจัดที่อยู่อาศัย สถานพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่จัดสันทนาการ โดยจะมีทั้งรูปแบบการเช่าที่ราชพัสดุ 4 แห่ง คือ ชลบุรี 50 ไร่, นครนายก 14 ไร่, เชียงราย 64 ไร่ ในอัตราตารางวาละ 1 บาท/เดือน และเชียงใหม่ 7.5 ไร่ ในอัตราตามระเบียบของระเบียบของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ สัญญาเช่า 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี เพื่อส่งเสริมให้บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาได้จองสิทธิ์เป็นลำดับแรก
นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากที่ราชพัสดุ ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), องค์กรชุมชน ในรูปแบบของบ้านประชารัฐ ซึ่งให้บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาได้จองสิทธิ์เป็นลำดับแรกเช่นกัน โดยให้ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์จัดสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และผู้สนใจจองสิทธิ์
3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) มีที่อยู่อาศัยของตนเองซึ่งปลอดภาระหนี้แล้ว สามารถยื่นขอสินเชื่อเพื่อเป็นรายได้นำมาเลี้ยงชีพได้จนเสียชีวิต หรืออายุสัญญาที่กำหนดเป็นช่วงเวลา โดยครอบคลุมถึงคู่ชีวิต ซึ่งรูปแบบนี้มีใช้ในฮ่องกงและเกาหลีใต้
4.มาตรการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่มีอยู่จำนวน 11.7 ล้านคน เพื่อช่วยให้มีรายได้ 50% ก่อนเกษียณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานระดับกลาง โดยกำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 100 คนขึ้นไป, กิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐ, กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน, กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ, องค์กรมหาชน, หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้บังคับว่าด้วยกองทุน กบข. ให้เข้าเป็นสมาชิกของ กบช. หลังจากนั้นในปีที่ 4 จะขยายให้ครอบคลุมกิจการที่มี 10 คนขึ้นไป และปีที่ 6 จะขยายให้ครอบคลุมกิจการที่มี 1 คนขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการดูแลแรงงานเพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น 12 ล้านคน
โดยกำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างและลูกจ้าง ส่งเงินตั้งแต่ 3% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 1,800 บาท หรือนายจ้างและลูกจ้างส่งเงินเพิ่มได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง แต่กรณีลูกจ้างมีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทที่มีอยู่ราว 50% จะให้นายจ้างเป็นคนส่งเงินฝ่ายเดียว