กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน แถลงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 พบว่าความต้องการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 10.41% และ ดีเซล เพิ่มขึ้น 3.69% หลังราคาน้ำมันปรับตัวลง ส่วนการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลง 9.68% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)ลดลง 8.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.41% เฉลี่ยอยู่ที่ 28.78 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซิน เนื่องจากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3-5 บาท/ลิตร ตามราคาตลาดโลก จึงส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในช่วง 10 เดือนของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.69% เฉลี่ยอยู่ที่ 60.01 ล้านลิตร/วัน เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลง 2.08 บาท/ลิตร ประกอบกับปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการใช้ LPG ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.68% เฉลี่ยอยู่ที่ 16.32 ล้านกิโลกรัม/วัน โดยเป็นการลดลงของการใช้ภาคขนส่งและภาคปิโตรเคมี โดยภาคปิโตรเคมี ลดลง 17.13% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.91 ล้านกิโลกรัม/วัน ภาคขนส่ง ลดลง 15.96% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.03 ล้านกิโลกรัม/วัน ส่วนภาคครัวเรือนไม่เปลี่ยนแปลง เฉลี่ยอยู่ที่ 5.72 ล้านกิโลกรัม/วัน และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.90% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.66 ล้านกิโลกรัม/วัน
สำหรับการนำเข้า LPG ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลง 58.58% เฉลี่ยอยู่ที่ 43 ล้านกิโลกรัม/เดือน โดยการใช้ LPG ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่ลดลงจากการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน และเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจึงทำให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันแทน LPG ในภาคขนส่งส่วนการนำเข้า LPG ลดลงเนื่องจากการผลิต LPG ในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าในปริมาณสูงเช่นเดียวกับปีก่อน
การใช้ NGV ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.89% เฉลี่ยอยู่ที่ 7.76 ล้านกิโลกรัม/วัน โดยการใช้ NGV ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.50% เฉลี่ยอยู่ที่ 906,805 บาร์เรล/วัน เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 4.28% เฉลี่ยอยู่ที่ 843,499 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 38,883 ล้านบาท/เดือน ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 8.30% เฉลี่ยอยู่ที่ 63,306 บาร์เรล/วัน มูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 7.00% คิดเป็นมูลค่า 3,406 ล้านบาท/เดือน
นอกจากนี้กรมธุรกิจพลังงาน ยังได้แถลงถึงกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันโดยถังขนส่งน้ำมัน พ.ศ.2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 26 ตุลาคม 2559 นั้น โดยมีผลบังคับใช้กับ ผู้ประกอบกิจการถังขนส่งน้ำมันทั้งการขนส่งภายในประเทศและเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร
ทั้งนี้ การจ่ายน้ำมันจากถังขนส่งน้ำมันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 44 กล่าวคือการจ่ายน้ำมันจากถังขนส่งน้ำมันต้องจ่ายลงถังเก็บน้ำมันเท่านั้น และต้องกระทำภายในสถานที่ประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 หรือประเภทที่ 3 ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
เดิมการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณคลังและท่าส่งสินค้าในตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นการส่งน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันผ่านท่อเหนือผิวน้ำ และใต้น้ำข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นเขตแดน บางส่วนถ่ายใส่เรือบรรทุกน้ำมันขนาดเล็กข้ามไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยใช้ทางอนุมัติเฉพาะคราว (มาตรา 5 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2480) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่สามารถขนส่งข้ามโดยใช้เส้นทางจุดผ่านแดนถาวร (สะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา)ได้ เนื่องจากเดิมโครงสร้างสะพานไม่สามารถรองรับรถบรรทุกน้ำมันได้
แต่ในปัจจุบัน กรมทางหลวงได้แจ้งว่า สะพานได้ผ่านการทดสอบการรับน้ำหนักแล้ว รถขนส่งน้ำมันสามารถวิ่งผ่านได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้ง และกรมธุรกิจพลังงานได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2558 แล้ว