นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ลดลงเหลือโต 3-5% จากเป้าหมายที่ประเมินไว้ในช่วงกลางปีที่เติบโต 6-8% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่ความต้องการสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ชะลอการใช้สินเชื่ออย่างเห็นได้ชัด คาดว่าเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนอยู่
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่ม ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลให้สินเชื่อรวมของธนาคารในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโตเพียง 2.4% โดยมีสินเชื่อที่เติบโตได้อย่างโดเด่นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คือ สินเชื่อบ้าน และบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าแนวโน้มของสินเชื่อรวมในไตรมาส 4/59 จะสามารถขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/59 ที่สินเชื่อรวมไม่มีการขยายตัว เพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงเทศกาลที่จะมีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการต่างๆ อาจจะมีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อนำเงินไปลงทุน เนื่องจากต้องรองรับการดำเนินงานในปีหน้า ซึ่งจะช่วยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อรวมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ธนาคารได้ประเมินการขยายตัวของสินเชื่อรวมในปีนี้ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 6% ตามการประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 60 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5% จากการลงทุนภาครัฐและการกลับมาลงทุนมากขึ้นของภาคเอกชนเป็นปัจจัยหนุน ซึ่งทำให้สินเชื่อในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 60 จะเติบโตได้ที่ 6%
ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/59 ที่ 2.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยังส่งผลกระทบทำให้ NPL เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องมีการตั้งสำรองฯ เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4/59 จากไตรมาส 3/59 ที่ตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท เพราะธนาคารยังต้องป้องกันความเสี่ยง และรักษาความแข็งแกร่งของธนาคารไว้ รวมไปถึงรักษาระดับ coverage ratio ให้อยู่ในเป้าหมายที่ระดับ 140-145% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 143%
และ ในปีนี้ธนาคารเชื่อว่าจะยังคงควมคุมระดับ NPL ให้อยู่ที่ 2.5-3% แต่ยอมรับว่าแนวโน้ม NPL มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดได้ในช่วงต้นปี 60
"กลุ่มที่ธนาคารยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ กลุ่มสินค้าเกษตรกร และอุตสาหกรรมพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยอาจจะยังกระเตื้องได้ไม่มาก และยังมีเรื่องความผันผวนของราคาสินค้าที่เข้ามากระทบอีก" นายเบญจรงค์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการขายหุ้น TMB ที่กระทรวงการคลัง และ ING ถืออยู่นั้น นายเบญจรงค์ ระบุว่ ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นที่ต้องเป็นผู้พิจารณาจะถืออยู่หรือขายออกไป ซึ่งสำหรับทีมบริหารของธนาคารมีหน้าที่สร้างผลตอบแทนและกำไรให้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้มีความร่วมมือกับ ING เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องดิจิตอลแบงก์กิ้งที่ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคารในอนาคต