ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองตลาดการเงินโลกตอบรับในเชิงลบต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัล ทรัมป์ เป็นเพียงสถานการณ์ในระยะสั้น เนื่องจากแนวทางการบริหารประเทศที่จะมุ่งเน้นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นภารกิจสำคัญที่หนุนให้ตลาดฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ภายในช่วงข้ามคืน และจากการที่สหรัฐฯ น่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า คาดว่า จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียง 2.2% ตามที่ประเมินไว้
ทั้งนี้ในระยะสั้น ตลาดการเงินตอบสนองต่อชัยชนะการเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์อย่างผันผวน โดยสินทรัพย์เสี่ยงดิ่งลงอย่างรุนแรง และดีดกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วภายในช่วงข้ามคืน แต่สำหรับภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะเห็นการผลักดันนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Pro-Growth Policies) จากทีมบริหารเศรษฐกิจของนายทรัมป์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติแล้วเห็นผลเชิงบวกได้เร็วที่สุดต่อสหรัฐฯ (America First) อย่างไรก็ดี เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขึ้นกับหลายๆ ตัวแปร ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า เฟดอาจจะ “Behind the Curve" หรือปรับอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ตามหลังการตอบสนองของตลาด ซึ่งในประเด็นนี้อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 45 ปิดฉากลงด้วยสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายหลายอย่าง เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองจะกลายมาเป็นผู้พลิกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของสหรัฐฯ คนต่อไปแล้ว สิ่งที่มาได้ผิดคาดอีกอย่างก็คือ พรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งทำให้โดยหลักการแล้ว การผ่านกฎหมาย/มาตรการและนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงหลังจากนี้ คงจะมีความราบรื่นมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ยกเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่รออยู่ในช่วงกลางเดือน มี.ค.2560 ก็คงจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องลุ้นกันจนถึงเส้นตายเหมือนกรณีที่เคยผ่านๆ มา
"ในระยะสั้นผลกระทบจากชัยชนะของนายทรัมป์นับเป็นข่าวลบ และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากความตื่นตระหนกของตลาดกับผลการเลือกตั้ง ด้วยการเทขายเงินดอลลาร์ฯ เงินเปโซของเม็กซิโก เงินดอลลาร์แคนาดา สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย และสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น น้ำมัน) และหันไปซื้อสินทรัพย์/สกุลเงินที่มีความปลอดภัย อาทิ ทองคำ เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ เพื่อหลบความเสี่ยงในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายของนายทรัมป์ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินทั่วโลกก็ดีดตัวกลับมาได้ภายในชั่วข้ามคืน ด้วยภาพที่เงินดอลลาร์ฯ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสวนทางกับเงินเยน และทองคำที่ลดช่วงบวกทั้งหมดลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในระยะถัดไปคาดว่านานาประเทศและตลาดการเงินทั่วโลกคงจะต้องทยอยปรับตัวรับแนวนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมภายใต้สไตล์การบริหารประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าจุดยืนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะค่อนข้างชัดเจนว่า นายทรัมป์จะเดินนโยบายในทิศทางที่สนับสนุนภาคธุรกิจและการกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และอาจจะมีนโยบายตอบโต้/กีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ
"คงต้องยอมรับว่า ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการตอบสนองจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ดังนั้นมีประเด็นที่ต้องจับตาจะมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การเรียงลำดับความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจของทีมบริหารเศรษฐกิจชุดใหม่ของนายทรัมป์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าน่าจะเห็นการผลักดันนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Pro-Growth Policies) ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติแล้วเห็นผลเชิงบวกได้เร็วที่สุดต่อสหรัฐฯ (America First) และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อฝ่ายใด ทั้งนี้นโยบายการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถทำไปพร้อมๆ กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ตามแนวนโยบายของนายทรัมป์ น่าจะส่งผลกระตุ้นในระยะสั้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถประคองการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องในปี 2560 อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นการลงทุนแบบสุดขั้วดังกล่าว อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น (Fundamental Risks) โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่น่าจะเรื้อรังและมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด อาจจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางอ่อนค่าลง
2.การตอบสนองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์ที่กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 45% ขณะเดียวกันให้มีการดึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ กลับสู่สหรัฐฯ ซึ่งโดยมากแล้ว จะเป็นฐานการผลิตที่จีน เพื่อให้พลเมืองสหรัฐฯ มีงานทำเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูงถึง 21.5% ของการนำเข้ารวม และหากนโยบายขึ้นภาษีฯ ดังกล่าวถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ สูงขึ้น ผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างน้อยในระยะสั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าเงื่อนไขการเจรจาข้อตกลงยังมีความไม่แน่นอน แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะยึดหลักการที่ทำให้สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งจีนและประเทศอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของการกีดกันทางการค้า อาจจะต้องยอมเสียผลประโยชน์ไปบางส่วน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ น่าจะยังพอมีทางให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ และจะไม่นำไปสู่ข้อพิพาทและใช้ความรุนแรง เนื่องจากในระยะสั้นประเทศที่เป็นเป้าหมายของการกีดกัน/การตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ดังกล่าว อาจจะยังไม่มีทางเลือกมากนักในการปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ซึ่งก็ต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่เสนอมาบนความไม่เต็มใจ แต่ในระยะยาว จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในเรื่อง เศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะข้างหน้า จากการที่นโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่คงจะมุ่งเป้าไปที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ระดับปกติตามเดิม อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญของตลาดในช่วงหลังจากนี้ จะอยู่ที่ท่าทีของทีมบริหารประเทศชุดใหม่ ซึ่งอาจจะไม่อยากเห็นผลกระทบในเชิงลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดก็คงต้องชั่งน้ำหนักให้กับหลายๆ ปัจจัยมากขึ้นในการกำหนดท่าทีเชิงนโยบาย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจจะ “Behind the Curve" หรือปรับอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ตามหลังการตอบสนองของตลาด ซึ่งในประเด็นนี้ อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง
ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น สถานการณ์ที่ดีที่สุดต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีหน้าจะเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ สามารถบรรลุการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นข้อตกลงร่วมกันได้ และไม่นำไปสู่ข้อพิพาทและใช้มาตรการตอบโต้ที่มีความรุนแรง