นักเศรษฐศาสตร์ มองผลเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯกระทบส่งออกไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2016 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างมีนัยยสำคัญมาก เงินบาทอาจมีการอ่อนตัวบ้าง เงินทุนระยะสั้นต่อตลาดการเงินไม่มีนัยยสำคัญมาก อาจเคลื่อนย้ายออกบ้าง

ขณะที่ผลกระทบสำคัญน่าจะเป็นด้านการค้ามากกว่าทั้งทางบวกและทางลบ การส่งออกไปสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้าเป็นต้นไป การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วยเพราะไทยจีนมีสินค้าหลายตัวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ภาคส่งออกไทยจะมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 24,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด

"ดังนั้น หากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียมากขึ้นอีก"

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้ประกาศตั้งแต่เริ่มหาเสียงแล้วว่า ไม่เอาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นเป็นผลดีกับไทยการเริ่มต้มใหม่เรื่อง TPP นั้นเป็นเรื่องโชคดีของไทย ส่วนเวียดนามและมาเลเซียได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้แม้นยังไม่เต็มรูปแบบ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม แม้ TPP ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนาม ก็ไหลเข้าไปแล้ว มีตัวเลข 8 เดือนแรก เงินทุนไหลเข้าไปกว่า 14.4 พันล้านสหรัฐ จะเห็นว่า ทีพีพีจะไม่เกิดแต่เวียดนามก็ได้ประโยชน์จาก FDI ที่ไหลเข้าไปแล้ว

ส่วนประเทศไทยนั้นควรมียุทธศาสตร์และนโยบายทางการค้าที่ชัดเจนกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีความคืบหน้ามากนักใน FTA กับอียู FTA กับสหรัฐฯ

เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาในไทยอยู่ในอันดับต้นๆมาตลอด ในปี 55 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 22,782 ล้านบาท ช่วง ส.ค. 58 ถึง ส.ค. 59 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ราว 6,115 ล้านบาท หาก “สหรัฐฯ” เห็น “ไทย” เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ก็น่าจะเร่งลงทุนในไทยมากขึ้น การลงทุนทางด้านกิจการพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเพิ่มขึ้น

ด้านแรงกดดันของสหรัฐฯต่อไทยในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการค้าจะลดลง เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว แรงกดดันต่อไทยให้กลับคืนประชาธิปไตยและการเลือกตั้งลดลง ผู้นำสหรัฐฯจะขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศโดยนำเอาประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุน เป็นตัวนำ

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่าจะมีใครเป็นทีมเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจบ้าง และท่าทีของประธานาธิบดีคนใหม่ต่อบทบาทและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะถูกจำกัดลง หากประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีนโยบายแปลกๆ และขาดความน่าเชื่อถือในเรื่องความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจมีทีมเศรษฐกิจที่แนะนำให้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนที่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้เขียนไว้ในบทความล่าสุดว่า "ภายใต้สภาพใดๆ ก็ตาม การเอาคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ คนที่ฟังคำแนะนำจากคนที่คิดผิดๆ ทั้งหลายแหล่มาเป็นผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลกนั้นถือเป็นข่าวร้ายมากๆ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ