ครม.เห็นชอบมาตรการปรับปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียน 2 โครงการเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว ใช้งบ 487.25 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2016 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหมุนเวียน ภายใต้นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 2 มาตรการ

มาตรการแรก คือ การปลูกพืชปุ๋ยสด ดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน มีเป้าหมายดำเนินการใน 19 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท สระบุรี นครนายก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร รวมพื้นที่ 2 แสนไร่ โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด คือ ปอเทือง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ขายคืนให้กรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 5 หมื่นไร่ และอีก 1.5 แสนไร่ สนับสนุนให้เกษตรกรไถกลบ ซึ่งการไถกลบปอเทืองเป็นการช่วยเพิ่มปุ๋ยให้กับที่ดิน เนื่องจากถ้าปลูกข้าวไปนานๆ โดยไม่มีการปลูกพืชชนิดอื่นสลับจะทำให้คุณภาพดินแย่ลงไปเรื่อยๆ และต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกๆปี

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ต้นทุนให้เกษตรกร ไร่ละ 5 กก. รายละไม่เกิน 20 ไร่ และจะสนับสนุนค่าไถเตรียมดินครั้งแรกให้ไร่ละ 500 บาท และค่าไถกลบอีกไร่ละ 500 บาท และในที่สุดจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจำนวน 6 พันตันในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณ 383.49 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเตรียมดิน 175 ล้านบาท ค่าเมล็ดพันธุ์ต้นทุน 29.75 ล้านบาท ค่ารับซื้อคืนเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกร 178.50 ล้านบาท และที่เหลือเป็นค่าประเมินผลโครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ต.ค.59 - พ.ค.60

ส่วนมาตรการที่ 2 คือ โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 8 พันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร ไร่ละ 4 พันบาท ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ซึ่งจะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 1,800 บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมีรองพื้น และค่าสารเคมีคุมวัชพืช งวดที่ 2 จำนวน 1,200 บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 (ปุ๋ยแต่งหน้า) และค่าดูแลรักษา งวดที่ 3 จำนวน 1,000 บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าเก็บเกี่ยว

ขณะเดียวกันจะใช้วงเงินงบประมาณ 103.76 ล้านบาท เพื่อชดเชยอุดหนุนดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ต.ค.59 - มิ.ย.60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ