นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ.2560-2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่างแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวมุ่งที่จะให้มีระบบการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเงินของประชาชนได้ทุกระดับอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาฯ จะประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อใช้เป็นการวางกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนผ่านการสร้างรายได้ ลดภาระทางการเงิน และเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการอย่างบูรณาการ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก โดยจะมีการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างรายได้, การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย, ส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และการสนับสนุนการออม นอกจากนี้ยังจะมุ่งในการลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการสร้างทักษะให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงิน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยมุ่งจะสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้มีความมั่นคงทางการเงิน และการสร้างเครือข่ายองค์กรการเงินในชุมชน และระหว่างชุมชน นอกจากนี้ยังมุ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินในระบบขยายบทบาทเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ผ่านมาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมประชาชนระดับฐานรากมากขึ้น และส่งเสริมให้สถาบันการเงินในระบบให้บริการทางการเงินในระดับฐานรากมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภาคประชาชน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การจัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายระบบการเงินภาคประชาชน, การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเงินภาคประชาชนให้รองรับกับการดำเนินงานเชิงนโยบาย รวมทั้งการกำหนดแนวทางในการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลระบบการเงินระดับฐานรากแบบบูรณาการ
"ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปครั้งสำคัญของไทยต่อไป มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ชุมชน และประเทศไทยอย่างแท้จริง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การที่พี่น้องประชาชนจะสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นายกอบศักดิ์ ระบุ