น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางมีเงินรับเข้าเงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS ในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2559 มีเงินสดรับ จำนวน 203,088.80 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559) แบ่งเป็น การนำส่งรายได้ของส่วนราชการ 167,169.97 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการนำส่งรายได้ภาษีของกรมสรรพากร ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 34,164.03 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 22,670.71 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 20,249.28 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 35,237.46 ล้านบาท และกรมศุลกากร 6,391.72 ล้านบาท เป็นต้น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 7,754 ล้านบาท และการนำเงินนอกงบประมาณฝากคลัง 28,087.22 ล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2560 ในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2559 เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ จำนวน 422,383 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,733,000 ล้านบาท คิดเป็น 15.45% โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 394,852 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,184,128 ล้านบาท คิดเป็น 18.08% ขณะที่รายจ่ายลงทุน (กรณีไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายได้ 27,531 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 464,226 ล้านบาท คิดเป็น 5.93%
หากเปรียบเทียบผลการเบิกจ่ายของเดือนตุลาคม 2559 ในภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมาย 6.22% (เป้าหมาย 9.23%) และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.22% (ปีก่อนเบิกจ่ายได้ 13.23%)
นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 12,972 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 237,981 ล้านบาท คิดเป็น 5.45% มีการก่อหนี้แล้วทั้งสิ้น 161,013 ล้านบาท คิดเป็น 67.66% และการเบิกจ่ายงบประมาณ 2560 ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล มาตรการการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เบิกจ่ายแล้ว 319 ล้านบาท ของวงเงิน 20,251 ล้านบาท คิดเป็น 1.58%
“กรมบัญชีกลางจะเร่งการเบิกจ่ายของส่วนราชการ โดยจะให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายมากขึ้น รวมถึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 60 เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ" น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าว