นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก “โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2559/60" โดยการจัดหาผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกเข้าไปรับซื้อ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการรับซื้อ ช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในด้านการตลาดและการจำหน่ายข้าวเปลือกดูแลให้มีความถูกต้องเที่ยงตรงทั้งการชั่งน้ำหนักวัดความชื้นและหักสิ่งเจือปน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้าใจลักษณะตลาดและคุณภาพข้าวซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของตลาดโดยกำหนดแผนการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ในแหล่งผลิตพื้นที่เป้าหมาย 52 จังหวัด 127 ครั้ง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีการจัดตลาดข้าวเปลือกใน 38 จังหวัด 77 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ เป็นต้น
ซึ่งในขณะนี้มีหลายจังหวัดได้ดำเนินการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกร เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด (ป่าจี้) จำหน่ายข้าวเปลือกปริมาณรวม 36.515 ตัน ราคาตันละ 7,300 - 7,450 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 270,055 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ณ ท่าข้าว ศ.ชินพงศ์ จำหน่ายข้าวเปลือกปริมาณ 82.685 ตัน ราคาตันละ 7,200 – 7,500 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 609,595.25 บาท จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 11 -13 พฤศจิกายน 2559 ณ ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ หจก.เพชรสุพรรณธัญญากิจ จำหน่ายข้าวเปลือกปริมาณรวม 490.145 ตัน ราคาตันละ 5,200 - 6,300 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,760,612.48 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้นและมีรายได้มากขึ้น
ด้านน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60 ในส่วนของโครงการชะลอการขายข้าวเปลือก โดยมีการขยายกลุ่มผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจากเกษตรกรรายคน และสหกรณ์การเกษตร ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และขยายพื้นที่ดำเนินโครงการให้ครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ (ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในทุกพื้นที่ โดยกำหนดวงเงินในสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือก ความชื้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปน ไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับข้าวหอมมะลิชนิดสีได้ต้นข้าว 36 กรัม ขึ้นไป ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 7,800 บาท
นอกจากนี้ยังช่วยเหลือด้านเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวซึ่งประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยังช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 3 ชนิด ตันละ 2,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่, ข้าวเจ้า ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ และข้าวปทุมธานี 1 ไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่
รวมที่เกษตรกรได้รับ คือ ข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิ 16,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าหน้าปี 13,500 บาท ต่อตัน และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ได้ 13,900 บาทต่อตัน และทางเลือกในการชำระหนี้ของชาวนา หากครบกำหนด 6 เดือน ราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าเงินกู้ ธ.ก.ส. ขยายเวลาชำระหนี้ให้อีก 3 เดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ย ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบส่วนต่าง อาทิเช่น เงินกู้ 9,500 บาทต่อตัน ราคาตลาด 8,000 บาทต่อตัน ก็ชำระหนี้เพียง 8,000 บาทต่อตัน โดยในส่วนต่าง 1,500 บาทต่อตัว ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนต่างนี้ และหากในระยะเวลาที่กำหนดในการชำระหนี้ราคาข้าวในตลาดสูงกว่าวงเงินกู้ ชาวนาสามารถแจ้ง ธ.ก.ส. แล้วเอาข้าวไปขาย ชาวนาสามารถรับส่วนต่างไปได้เลย
"ในกรณีเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวไปขายในตลาดแล้วก็ยังสามารถติดต่อรับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวได้ที่ ธ.ก.ส.โดยชาวนาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรตามฐานข้อมูล โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต"น.ส.วิบูลลักษณ์ กล่าว