รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค (สศม.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจได้พัฒนาและปรับปรุงแบบจำลอง Current Quarter Model (CQM) ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติและบัญชีการผลิตชุดใหม่ในรูปแบบ Chain Volume Measure (CVM)ในการสร้างแบบจำลอง CQM ทั้งด้านรายจ่ายและด้านการผลิตที่ใช้ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่มีการปรับฤดูกาล และเพิ่มแบบจำลองการวิเคราะห์ส่วนประกอบหลัก (PCA) ขึ้นมาเป็นส่วนเสริมค่าพยากรณ์จากแบบจำลอง CQM
ทั้งนี้ ผลการพยากรณ์ในภาพรวมค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีตัวแปรที่มีผลพยากรณ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ ได้แก่ ด้านรายจ่ายคือ รายจ่าย การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐด้านการก่อสร้างและด้านการผลิตคือ สาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง สาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน และสาขาการก่อสร้าง
นอกจากนี้ เพื่อให้แบบจำลอง CQM มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพยากรณ์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำควรประมาณค่าและปรับปรุงค่าพยากรณ์จากแบบจำลอง CQM อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งติดตามประสิทธิผลของค่าพยากรณ์จากแบบจำลอง CQM โดยการเปรียบเทียบค่าพยากรณ์กับค่าข้อมูลจริง และปรับปรุงสมการเชื่อมบางสมการเพื่อพัฒนาความแม่นยำของแบบจำลอง CQM ต่อไป
"การปรับปรุงแบบจำลอง CQM ที่ใช้ในปัจจุบันให้อยู่บนฐานข้อมูลบัญชีประชาชาติระบบใหม่แบบ CVM ทั้งด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิต และสามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ การวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจให้มีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถสังเคราะห์ประเด็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มความครอบคลุมของระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในแบบจำลอง ได้แก่ ข้อมูลบัญชีประชาชาติแบบ CVM รายไตรมาส และข้อมูลดัชนีเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน ให้มีความเป็นระบบ ความเป็นอัตโนมัติ และเอื้ออำนวยต่อการปรับการประมาณการเศรษฐกิจรายเดือนยิ่งขึ้น" เอกสาร สภาพัฒน์ ระบุ
นอกจากนี้ สำนักบัญชีประชาชาติ (สบป.) ยังปรับปรุงเพิ่มเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ให้มีความครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง แบบจำลอง CQM ในการประมาณการเศรษฐกิจรายไตรมาสได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งอาศัยแนวคิดพื้นฐานของแบบจำลองที่ผสมผสานระหว่างข้อมูลที่มีความถี่สูงกับข้อมูลที่มีความถี่ต่ำมาใช้ร่วมกัน เพื่อสะท้อนถึงความเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่เป็นสถานการณ์ล่าสุดให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ข้อมูลบัญชีประชาชาติรายไตรมาสที่ใช้ในแบบจำลองเดิมเป็นข้อมูลแบบปีฐานราคาคงที่ ปี 2531 ซึ่งในปัจจุบันสบป. ได้พัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลบัญชีประชาชาติรายไตรมาสให้เป็นไปตามระบบบัญชีประชาชาติสากลล่าสุด โดยการปรับเปลี่ยนปีฐานให้เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น