มกอช.เตรียมปั้นจังหวัดพัทลุงเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2016 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เรื่อง ยกระดับแหล่งผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ กับจังหวัดพัทลุง เพื่อยกระดับแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัดพัทลุงให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งการผลิตพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ที่จะเป็นพัฒนาต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ และขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้มากขึ้นได้ในอนาคต

โดย มกอช. และจังหวัดพัทลุง จะร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการนำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) รวมถึงมาตรฐานการผลิตอื่นๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้แก่เกษตรกร รวมถึงผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน เพื่อยกระดับแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพของจังหวัดพัทลุงให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดพัทลุง รวมทั้งตลาดส่งออก โดยดำเนินงานแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานในสังกัดและนอกกระทรวงเกษตรฯ ในการผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกร และผู้ประกอบการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปปฏิบัติใช้ได้จริง โดยเน้นถึงความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่เป็นหลักเพื่อสนองต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น นโยบายประชารัฐ นโยบายแปลงใหญ่ นโยบายสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer ) เป็นต้น

ด้านนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงมีนโยบายให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวประมาณ 580,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 41 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 1.4 ล้านไร่ รองลงมาเป็นการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง ขณะเดียวกันยังมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคต่างๆ ในประชาคมอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดมีเป้าหมายสำคัญที่จะผลักดันและพัฒนาจังหวัดให้มีศักยภาพและโดดเด่นในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ โดยดำเนินการให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เช่น การส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเบื้องต้น ได้แก่ ข้าวสังข์หยด หรือสินค้าเกษตรอื่น ๆ และการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาตรฐานทางการผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรที่ดีและเหมาะสม(GMP)ได้แก่ โรงสีข้าว โรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด มีการบริหารจัดการในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรของภาคใต้ มุ่งเน้นในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยใช้ศักยภาพจากการเป็นสินค้าเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ