นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ระบุว่า ธพส.เปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเพื่อประกวดแบบโครงการพัฒนาพื้นที่โซน C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยสามารถรับเอกสารรายละเอียดและข้อกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 14-25 พ.ย.59
ทั้งนี้ ผู้สนใจจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือรวมเป็นกลุ่มนิติบุคคล โดยมีนิติบุคคลหลัก (Lead Firm) จดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรวิชาชีพทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร มีผลงานการออกแบบอาคารสำนักงานที่เป็นอาคารสูง และเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษอย่างน้อย 3 โครงการ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้เสนอแบบได้ในเดือน ธ.ค.59 กำหนดแผนการก่อสร้างภายในปี 62 และคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปี 65
"คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 62 ก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกินปี 65 ถ้าขึ้นโครงการเร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น เพราะถือเป็น timing ที่เหมาะสมของการที่ต้องการสนับสนุนการลงทุนในขณะนี้" อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ
สำหรับการออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่โซน C ของศูนย์ราชการฯ จะยังคงเน้นเรื่องการเป็น Smart Building ที่อนุรักษ์พลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่โซน C นี้มีจำนวน 81 ไร่ เป็นการก่อสร้างศูนย์ราชการส่วนต่อขยายสำหรับเป็นที่ปฏิบัติราชการของส่วนราชการไม่น้อยกว่า 4 แสนตารางเมตร โดยมีแผนพัฒนาให้เป็นอาคารที่โดดเด่น สง่างาม สะดวกและเหมาะสมต่อการปฏิบัติราชการและการติดต่อของประชาชน มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ศูนย์ราชการโซน A และโซน B สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยต้องมีพื้นที่จอดรถไม่น้อยกว่า 3,300 คัน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ.2544
โดยอนาคตอันใกล้นี้ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จะเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีชมพู อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อศูนย์ราชการฯ กับถนนกำแพงเพชร 6 และเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต
ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพส. กล่าวว่า มูลค่าการก่อสร้างของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C ตั้งไว้ที่ประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท ซึ่งการระดมทุนอาจจะมาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่านี้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา
"เราคงต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย เพราะในวันนั้นอาจจะมีทางเลือกอื่นให้เรามากกว่าการทำซิเคียวริไทซ์ ซึ่งต้องดูว่าภาระลดลงหรือไม่ ต้นทุนต่ำกว่า ผลตอบแทนดีกว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร" นายสุเมธ กล่าว
โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่แสดงความสนใจจะขอเช่าพื้นที่โซน C แล้ว 7 หน่วยงาน คือ อัยการสูงสุด, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) และราชบัณฑิตยสถาน
นายสุเมธ กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการของ ธพส.ในปีนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโตจากปีก่อน 5-10% มีกำไรประมาณ 300 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ส่วนการขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท ดีขึ้นจากในช่วง 3 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,300-1,400 ล้านบาท