ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ พร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันกับตามเทคโนโลยีเพราะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ มีผลต่อการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำลง
นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวในการสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย หัวข้อ"เศรษฐกิจไทยก้าวอย่างไร ในยุคเทคโนโลยีป่วนโลก"ว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีโอกาสเผชิญความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 4.0 โดยเฉพาะเรื่องของ Internet of Things หรือการติดต่อสื่อสาร ทำอะไรด้วยกันด้วยอินเตอร์เน็ต ในส่วนของปูนซิเมนต์ไทยได้พิจารณาในแต่ละธุรกิจว่ามีอะไรที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
"เรากำลังมองว่าการทำเรายังคงทำวัสุดก่อสร้างขาย ต่อไป Value หรือ กำไรจะอยู่ในของที่เราทำหรืออยู่ใน Market Place แม้เราจะเชื่อว่าปูนซิเมนต์ เม็ดพลาสติกยังเป็นสินค้าที่จะยังอยู่ได้อีกหลายสิบปี แต่เรื่องของธุรกิจหรือกำไรอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง"
สำหรับปูนซิเมนต์ไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Core Technology, Core Product, Industry 4.0 และสุดท้ายคือ Market Place ซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด เพราะมีคนพยายามสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น ให้อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่ผู้ซื้อ เหมือนกับตอนนี้ยักษ์ใหญ่ถูกดึงเข้ามาให้ใกล้กับผู้บริโภคมากขึ้น
ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า ภาคพลังงานต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน บ้านปู มองเรื่องของ Supply Chain Management ข้อมูลต่างๆ ต้องเป็น Go with The Flow สิ่งที่เกี่ยวกับพลังงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Stationary ที่ในอดีตจะมีพลังงานใหญ่ๆ อยู่กับตัว อยู่กับที่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นติดตัวเราไปทุกที่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยกตัวอย่างธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจแก๊ส ในอดีตเป็นการเจาะสำรวจกัน แต่ปัจุบันมีเรื่อง Hydro Factoring การใช้ดาวเทียมติดตามการเคลื่อนไหวของเรือส่งสินค้า หรือเวลาเราส่งถ่านหินทางเรือเราก็ใช้ GPS ในการติดตามทำให้รู้ว่าจะต้องปรับปรุงอะไร ในอนาคตการใช้รถยนต์ก็จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แก๊สในอดีต โซล่าในอดีตก็จะเปลี่ยนแปลงไป ที่เคยถูกขุดเจาะแบบต้นทุนสูงๆ ก็จะกลายเป็นการขุดเจาะที่ต้นทุนต่ำลง
ราคาของพลังงานในอนาคตทั่วโลก จะมีราคาต่ำลง เรื่องของแผงโซลาร์ในอดีตใครจะทำเทคโนโลยีต้องเยอรมันเท่านั้น มาในปัจจุบันจีนและญี่ปุ่นกลายเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีโซลาร์ ไม่ใช่ตะวันตกอีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันมีการใช้โซลาร์ฟาร์มมากมาย แต่ในอนาคตจะกลายเป็นโซลาร์บนหลังคาบ้านเรา นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกหน่อยสีทาหลังคาบ้าน กระเบื้องมุงหลังคาก็เป็นแผงโซลาร์แล้ว นี่คือเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
ด้านนางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ดิเอราวัณกรุ๊ป (ERW) กล่าวว่า ในส่วนของภาคบริการ โรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้นำเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า เช่น ระบบจองออนไลน์ การเช็คอินโดยใช้สมาร์ทโฟน และกลุ่มยังได้นำระบบจัดการรายได้เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์รายได้ รายวันและบริหารจัดการการขาย เช่น หากต้องการรายได้จำนวนเท่านี้ จะต้องขายรายย่อยเท่าไร ขายกลุ่มประชุมสัมมนาเท่าไร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย
"เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางลูกค้ามากขึ้นทำให้กลุ่มฐานลูกค้าโรงแรมขยายตัวจากเดิมกลุ่มคนเดินทางอายุเฉลี่ยที่ 25-60 ปี แต่ปัจุบันอยู่ที่ 18-80 ปี และยังช่วยขยายตลาด ผ่านแอพพลิเคชั่นจองออนไลน์ เช่น อโกด้า บุ๊คกิ้ง รวมทั้งโซเชียลมีเดียที่ทำให้ตลาดกว้างและการขายสะดวกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกว่า 80% ของการจองห้องพักของกลุ่ม มาจากช่องทางออนไลน์"
นอกจากนี้แล้ว ทางกลุ่มยังได้ปรับตัวโดยหาพาร์ทเนอร์ในทุกส่วนของซัพพลายเชนธุรกิจโรงแรม เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องมีต้นทุนการลงทุน ซึ่งกลุ่มที่มีเงินทุนอาจจะปรับตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่ขาดเงินทุน และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้นทุนบางอย่างต้องแบกรับเอง เช่น ฟรีไวไฟ จากเดิมที่อาจจะมีการขายชั่วโมง เป็นต้น ต้องมีการพัฒนาบุคคลากรให้สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีให้ได้ด้วย แต่สิ่งที่ยังกังวล คือ ทำอย่างไรให้ใช้เทคโนโลยีอยู่ในกรอบกฎหมาย เพราะอย่างธุรกิจโรงแรมสามารถจองออนไลน์ได้ทุกโรงแรม ซึ่งก็มีบางโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดหากเกิดเหตุขึ้นจะกระทบความเชื่อมั่นลูกค้าและกระทบในภาพรวมธุรกิจ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเข้มงวดด้านกฎหมาย มีการตรวจสอบและมีการจัดระเบียบ แต่ต้องไม่ปิดกั้นการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหน้าใหม่