นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB SME Sentiment Index) ในไตรมาส 3/2559 (ก.ค.-ก.ย.59) จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,356 กิจการทั่วประเทศ อยู่ที่ 41.9 สูงขึ้นเล็กน้อยกว่าระดับ 39.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
"มาตรการกระตุ้นการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งการเติบโตของภาคท่องเที่ยว ยังคงเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกภูมิภาค ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมและขาดรายได้ในช่วงก่อนหน้า เป็นเหตุให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นไปอย่างระมัดระวัง อีกทั้งราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยังอยู่ในระดับต่ำ รั้งให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังฟื้นตัวในวงจำกัด" นายเบญจรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ด้วยปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว การเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ การช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐผ่านโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต รวมถึงฝนที่ตกตามฤดูกาลทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ตามรอบการผลิตปกติ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายและเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่าในช่วงไตรมาส 2 สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นมีทิศทางทรงตัวจากไตรมาสก่อน
ปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวได้ช้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ยังเป็นปัจจัยหลักกดดันสร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ SME กว่า 60% รองลงมาคือปัจจัยกังวลด้านเงินทุนหมุนเวียนโดยเฉพาะปัญหาขาดสภาพคล่อง 15% และภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม 6% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ด้านความเชื่อมั่นในอนาคตยังอยู่ในระดับที่ดี โดยผู้ประกอบการธุรกิจ SME มองดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 54.1 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าแนวโน้มการดำเนินธุรกิจน่าจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองโค้งสุดท้ายปี 2559 ยาวต่อไปถึงปี 2560 ยังจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเศรษฐกิจปี 2560จะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวในปีหน้า รวมทั้ง การขับเคลื่อนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของภาครัฐ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกและบริการ มีความได้เปรียบในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ เช่น สื่อ Social และ E-Payment เพื่อช่วยสร้างรายได้และลดต้นทุนในการดำเนินงานได้รวดเร็วกว่ากลุ่มธุรกิจผลิต เนื่องจากกระบวนการทำงานไม่ซับซ้อนจึงใช้ระยะเวลาและใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มากในการปรับตัว