นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดข้าวไทยในจีน โดยเฉพาะการบริโภคข้าวไทยของชาวเสฉวน นิยมบริโภคข้าวไทยมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้งปัจจุบัน ผู้นำเข้าข้าวในมณฑลเสฉวนยังมีจำนวนน้อยมาก ทำให้การแข่งขันในตลาดยังไม่รุนแรงเช่น ตลาดทางจีนตอนใต้และจีนตะวันออก จึงนับเป็นโอกาสที่ดีต่อนักลงทุนและผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเข้ามาเจาะ ตลาดข้าวในมณฑลเสฉวน
สำหรับการนำเข้าข้าวไทยของจีน พบว่า ระหว่าง ปี 52 - 54 จีนมีการนำเข้าข้าวไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง มาโดยตลอด จนกระทั่งปี 55 จีนนำเข้าข้าวไทยลดลง ตามลำดับจนไทยตกอยู่ในลำดับที่สามต่อจากเวียดนาม และปากีสถาน ในปี 59 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน การนำเข้าข้าวไทยของจีนอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจีนได้นำเข้าข้าวจากไทยจำนวน 529,500 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 52.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 26.6% ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนามที่ได้ส่งออกข้าวมาจีนถึง 855,900 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 42.9% ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน โดยสาเหตุหลักที่จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนามมากกว่าข้าวไทย เนื่องจากปัญหาราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมชาวจีนยังเห็นว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง ทำให้เป็นที่นิยมของผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง และผู้ที่นิยมของดีมีคุณภาพ การบริโภคข้าวไทยของชาวเสฉวน ชาวเสฉวนนิยมบริโภคข้าวไทยมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย
อีกทั้ง ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศได้ออกมาตรฐานข้าวหอมมะลิ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเข้าใจให้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคต่างประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1.) ข้าวหอมมะลิไทย (THAI HOM MALI RICE) กำหนดให้มีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า 92% (2.) ข้าวหอมไทย (THAI JASMINE RICE หรือTHAI FRAGRANT RICE หรือ THAI AROMATIC RICE) มีข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่า 80% มีอมิโลสไม่เกิน 20% (3.) ข้าวหอมที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ข้างต้น