(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 3/59 โต 3.2% เหตุใช้จ่ายครัวเรือน-ลงทุนภาครัฐ-ส่งออกช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 21, 2016 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/59 ขยายตัวได้ 3.2% ตามตลาดคาด เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกรอบ 7 ไตรมาส การผลิตภาคการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส

สภาพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/59 ขยายตัวต่อเนื่องจาก 3.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจขยายตัว 0.6% จากไตรมาส 2/59 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 59 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัว 2.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/59 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 3.5% ตํอเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 3.8% ในไตรมาสกํอนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาวในชํวงวันที่ 16-20 ก.ค.59 สอดคล้องกับการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) 13.1%

การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 11.0% และ 17.8% ตามลำดับ และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับระดับ 61.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลง 5.8% สอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำเนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 3.2% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 2.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนรวม ขยายตัว 1.4% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง 6.3% เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาลที่ขยายตัว 3.8% และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูง 10.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.5% เนื่องจากการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างของภาคเอกชนลดลง 0.2%

สำหรับยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 50.2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงจำนวนหลายโครงการ อาทิ โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 96,500 ล้านบาท และโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มูลค่าประมาณ 74,200 ล้านบาท ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยูที่ระดับ 49.2 เทียบกับระดับ 50.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การลงทุนรวมขยายตัว 3.1% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง 10.3% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.6%

การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 54,907 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 0.4% เป็นการเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 0.8% (เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส) ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลง 0.3% ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าประมงและสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้าตาล เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดจีน ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลง 0.1% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,913 พันล้านบาท ลดลง 0.7% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 159,516 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 1.2% โดยปริมาณการส่งออกลดลง 0.3% และราคาส่งออกลดลง 0.8% และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลคำ 5,623 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3%

สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.9 เทียบกับการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 60% เพิ่มขึ้น 1.5% สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่า 30% ขยายตัว 0.5% สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่าง 30-60% ลดลง 4.1% สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เครื่องแต่งกาย และยานยนต์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 64.01%

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 0.9% ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.1% อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 65.79%

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวสูงและเร่งขึ้น 15.9% จากการขยายตัว 12.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.23 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค โดยนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกัน รายรับจากการท่องเที่ยวอยูที่ 441.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 60.4% เพิ่มขึ้นจาก 58.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว 14.8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 24.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,323.57 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 65.9%

สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวในเกณฑ์ดี 5.0% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของก่อสร้างของภาครัฐ 10.7% ขณะที่การกํอสร๎างภาคเอกชนลดลง 0.2%

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัว 7.9% โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว 15.0% และ 1.5% ตามลำดับ

ด้านสาขาเกษตรกรรม ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส 0.9% เทียบกับการลดลง 1.2% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งผ่อนคลายลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมง ในขณะที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้น 13.1% ตามการเพิ่มขึ้นของราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาปาล์มน้ำมัน ราคาเนื้อสุกร ราคาไข่ไก่ และราคากุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ราคามันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง 12.5%

รวม 9 เดือนแรกของปี 59 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลง 0.7% โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 3.9% ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 4.1% รายได้เกษตรกรลดลง 0.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ