ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 เป็น 3.2% มองเศรษฐกิจเสี่ยงแผ่วปลาย ปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้เหนือความคาดหมายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยอดขายรถ การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแรงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากมีปัจจัยกดดันสำคัญที่รออยู่ ได้แก่ ปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนหน้าของทั้งยอดขายรถและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึง แรงกดดันต่อภาคการท่องเที่ยวจากการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญและบรรยากาศการบริโภคในประเทศที่ซบเซาลง EIC มองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้าที่สุดในรอบปี
"EIC มองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้าที่สุดในรอบปี ทำให้การขยายตัวทั้งปี 2559 ของ GDP ไทยอยู่ที่ 3.2%" บทวิเคราะห์ SCB EIC ระบุ
วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2559 ขยายตัว 3.2%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 0.6% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการที่ขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 เติบโตได้ที่ 3.5%YOY ปัจจัยหลักมาจากการซื้อยานพาหนะของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 7.9%YOY ขณะที่การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ที่ 14.7%YOY จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้านการบริโภคภาครัฐในไตรมาส 3 หดตัวสูงที่ 5.8%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 1.5%YOY จากการลดลงของรายจ่ายที่ถูกเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งรายจ่ายด้านการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ที่ 6.3%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่โตได้ถึง 11.9%YOY จากเม็ดเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง
การส่งออกของไทยในไตรมาส 3 ยังเติบโตได้ในระดับต่ำที่ 0.4%YOY แต่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวหลังเห็นสัญญาณการขยายตัวเป็นบวกในหลายหมวดสินค้าสำคัญในเดือน ส.ค.และ ก.ย. ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัวที่ 0.5%YOY จากการลงทุนเพื่อการผลิตที่ยังซบเซา ทั้งการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงถึง 24.2%YOY และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัว 0.5%YOY ขณะที่การลงทุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 0.1%YOY สะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังอ่อนแอของภาคเอกชน
พร้อมมองว่า แม้ว่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 3 จะยังคงขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แต่เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน (ส.ค.-ก.ย.) ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการเติบโตที่ครอบคลุมในหลายหมวดสินค้าสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่มีนัยสำคัญและเป็นสัญญาณบวกต่อการเติบโตในระยะต่อไป การเข้ามาส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคการส่งออกในช่วงต่อจากนี้จะสอดรับกับแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ที่เริ่มชะลอลงและยังมีปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า
SCB EIC มองว่าการเติบโตที่มีแรงส่งจากภาคการส่งออกนั้น น่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมมีความต่อเนื่องมากกว่าการหล่อเลี้ยงการเติบโตด้วยปัจจัยชั่วคราวอย่างในช่วงที่ผ่านมา
"ภาคการส่งออกมีสิ่งที่ต้องจับตา คือ ความเสี่ยงภายนอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นไปในทิศทางของการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศ" บทวิเคราะห์ระบุ