นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ราว 20-30% มาที่สูงกว่า 50% ซึ่งหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม ดังนั้น ทางสมาคมฯ จะเข้าหารือกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเครดิตบูโร เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ เพราะหากไม่แก้ไขคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวราว 10% ในปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าให้ชะลอตัวไม่ต่ำกว่าปีนี้ด้วย
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์" ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้จะไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้ที่ 5-10% หรืออาจเติบโตน้อยกว่า 5% เนรื่องจากมีปัจจัยกดดันจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งธนาคารรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ที่มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง ซึ่งโครงการในระดับราคา 1 ล้านบาทต้นๆบางโครงการมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50%
สาเหตุหลักของการปฏิเสธสินเชื่อที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องระยะเวลาในการติดเครดิตบูโรของผู้ซื้อที่ยื่นขอกู้เงิน ที่เมื่อชำระหนี้ครบหมดแล้วจะยังมีระยะเวลาที่ติดเครดิตบูโรอยู่อีก 3 ปี ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถยื่นขอกู้สินเชื่อกับธนาคารได้ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการขอความร่วมมือจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดระยะเวลาการติดเครดิตบูโรให้สั้นลง โดยมองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมอยุ่ในช่วงระหว่าง 6 เดือน-1 ปี ซึ่งคาดว่าทางสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ที่เสนอเรื่องดังกล่าวให้กับภาครัฐได้ทราบ เพราะปัจจุบันปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยุ่อาศัยรายหลายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้
อีกทั้งวงเงินในการให้กู้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง จากเดิมที่บางโครงการให้กู้ได้ 100% ลดมาเหลือ 80-85% เป็นต้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อ แม้ว่าธนาคารจะยังใช้เกณฑ์การพิจารณาตามเดิม
"ปัจจัยเรื่องสินเชื่อเป็นปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดที่ส่งผลให้ตลาดเกิดการชะลอตัว และลูกค้าเข้าถึงสิแหล่งสินเชื่อได้ยากมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่งมองว่าธนาคารก็ต้องมีการระมัดระวังการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นการฟื้นตัว และแนวโน้มที่ NPL ยังเพิ่มขึ้นได้อยู่"นายพรนริศ กล่าว
ทั้งนี้หากมีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการติดเครดิตบูโรและธนาคารลดหย่อนเการข้มงวดในการให้สินเชื่อลงได้บ้าง เชื่อว่าการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีความคึกคักมากขึ้น และช่วยดูดซับซัพพลายในตลาดให้ลดลงได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกแง่หนึ่ง
นอกจากนี้ ภาพรวมในไตรมาส 4/59 นี้คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยอาจจะยังทรงตัวหรือเติบโตได้เล็กน้อยจากไตรมาส 3/59 เพราะตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค.ไปถึงต้นเดือน พ.ย.เป็นช่วงที่รับผลเหตุการณ์เศร้าโศกในประเทศ ทำให้การตัดสินใจซื้อและการประชาสัมพันธ์โครงการใหม่ ๆ ต้องชะลอออกไป และผู้ประกอบการบางรายมีการเลื่อนการเปิดโครงการออกไปปีหน้า
แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการกลับมาซื้อโครงการและการเข้าชมโครงการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ในตลาด โดยคาดว่าแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 60 คาดว่าจะดีขึ้นจากปีนี้ หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวดีขึ้น และการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าต่างๆเกิดขึ้นชัดเจน ทำให้ความมั่นใจและการตัดสินใจซื้อกลับมาฟื้นตัว แต่ยังต้องติดตามความเข้มงวดของการให้สินเชื่อของธนาคารจะเป็นอย่างไร