นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการทรานฟอร์เมชั่นผู้ประกอบการเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต และสร้างนวัตกรรมใหม่ รองรับการผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ พบว่ายังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีทักษะทางด้านนี้อย่างเพียงพอทำให้หลายรายชะลอการลงทุนออกไป
ทั้งนี้ สถาบันฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งกำหนดนโยบายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทรานฟอร์มชั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนของการสร้างและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมได้ รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน ที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูง
“การผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ 4.0 มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งพบว่าในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังขาดแคลนแรงงาน ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิตเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสถาบันฯ พร้อมออกแบบพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมเพื่อเร่งสร้างบุคลากรทางด้านนี้โดยเฉพาะให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ” นายสมหวัง กล่าว